: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


นิ้วของผม

ปูตัวนี้ที่ ทำให้ผมได้คิด

ปลากัดหัวโม่ง (Betta prima) ตัวเมีย

ที่อยู่ของปลากัดหัวโม่งเป็นลำธารน้ำไหล ปลาจะแอบหลบอยู่ตามกอหญ้า และในจุดที่น้ำไม่แรงนัก

ปลาแค้หิน (Glyptothorax platypogon) สังเกตว่าปลามีสีเหมือนหินมากๆ เป็นการพรางตัวที่ยอดเยี่ยมจริงๆ

ลูกปลาตะเพียนน้ำตก (Puntius binotatus) ตอนเล็กๆ จะมีจุดประๆ แบบนี้ โตขึ้นจุดจะหายไป

ปลาซิวสุมาตรา (Rasbora sumatrana) มีให้เห็นอยู่ทั่วไป

ชาวบ้านดำน้ำยิงปลา
 

 

จันทบุรี "บทเรียนจากการถูกปูหนีบ"

เรื่อง/ภาพ: อาทิตย์ ประสาทกุล

1.

ผมว่าง ผมคิด …

ผมเบื่อกรุงเทพ ผมเบื่อรถติด ผมเบื่อความวุ่นวาย ผมเบื่อการแข่งขัน ผมเบื่อผู้คน ผมเบื่อความจำเจ

ผมอยากไปเที่ยว ผมอยากจับปลา ผมอยากเล่นน้ำ ผมอยากสูดอากาศบริสุทธิ์ ผมอยากเปลี่ยนบรรยากาศ

ผมเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ผมโทรบอกพ่อ ผมสวัสดีแม่ ผมกราบลาคุณยาย ผมฝากฝังปลา และต้นไม้ไว้กับพี่เลี้ยง

ผมไม่ลืมที่จะโยนสวิงใส่ท้ายรถ ผมไม่ลืมเอาถังพลาสติกไปด้วย

แล้ว… ผมก็ขับรถออกจากกรุงเทพ 

2.

หลายครั้ง…

ผมเลิกคิด ผมเลิกทำตามเหตุผลบ้าๆ บอๆ   ผมทำตามใจตัวเอง ผมมีความสุข ผมสบายใจ

ผมเดินลุยน้ำ ผมช้อนปลา ผมถ่ายรูป ผมถือถังด้วยมือซ้าย ผมจับปลาด้วยมือขวาอย่างบรรจง ผมใส่ปลาลงใน

ถัง ผมขับรถต่อ ผมมีความสุข ผมสบายใจ

ผมเดินลุยน้ำ ผมเก็บต้นไม้น้ำ ผมถ่ายรูป ผมห่อต้นไม้ด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า ผมใส่ถุงพลาสติก ผมขับรถต่อ ผมมีความสุข ผมสบายใจ

แล้ว… ผมก็กลับกรุงเทพ

3.

แต่…ครั้งนี้

ผมไม่ได้คิด ผมช้อนปลาได้หนึ่งตัว ผมถ่ายรูป ผมจับปลาต่ออีกหนึ่งตัว ผมถ่ายรูป ผมช้อนปลาได้อีกหนึ่งชนิด ผมถ่ายรูป ผมเดินลุยน้ำ ผมอยู่คนเดียว ผมจับปลาได้อีกหนึ่งตัว ผมทำอย่างเดิม ผมทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า

แต่… ครั้งนี้

ผมช้อนปลา ผมใช้มือควานไล่ปลาให้เข้าสวิง ผมเจ็บอย่างรุนแรงที่นิ้วชี้ซ้าย ผมร้องโอดครวญ ผมกระชากนิ้วขึ้นทันที ผมเห็นปู ปูอยู่ที่นิ้ว ผมสลัด ปูกระเด็นตกพื้น ผมยังร้องเบาๆ ด้วยความเจ็บปวด ผมมองดูที่นิ้ว ผมเห็นเลือด เลือดของผม ผมเลือดออกที่ปลายนิ้วชี้ซ้าย

ตอนนั้น ผมอยู่คนเดียว

ผมเลิกช้อนปลา ผมปล่อยปลาที่จับได้ ผมขึ้นรถ

ผมคิด ผมขับรถต่อ ผมคิดมาก ผมกินข้าว ผมคิดเรื่อยเปื่อย ผมขับรถกลับกรุงเทพ ผมคิดไปตลอดทาง ผมขึ้นทางด่วน ผมยังไม่เลิกคิด ผมถึงบ้าน ผมยังคิดอยู่

4.

ผมขอสารภาพครับ ผมขอสารภาพตรงๆ ว่าผมยังไม่รู้จัก “ธรรมชาติ” อย่างแท้จริงเลย ผมออกไปจับปลามาหลายครั้ง แม้จะยังไม่นาน และเชี่ยวชาญเหมือนพี่ๆ คนอื่นที่ไปช้อนปลาเป็นกิจวัตร ผมละอายใจตัวเองที่จะบอกว่า “ชอบออกไปสำรวจปลา” ทั้งที่ผมได้ไปสำรวจปลามาหลายครั้ง แต่ผมก็ยังไม่รู้ และเข้าใจถึงธรรมชาติที่แท้จริงเลยสักที

เวลาไปช้อนปลา ผมช้อนอย่างตะบี้ตะบัน ผมทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้ปลามาเลี้ยงที่บ้าน ใจหนึ่งก็อ้างว่าเป็นการสำรวจ แต่อีกใจหนึ่งทำไป เพื่อตัวเองมากกว่า ผมรู้เสมอถึงหลักการที่ตั้งของการอนุรักษ์ และการศึกษาที่ผู้รู้หลายคนได้พร่ำสอน ทั้งทางตรงจากบทความ ข้อเขียนต่างๆ และทางอ้อมจากการได้ยิน ได้ฟัง และรับรู้ด้วยตัวผมเอง แต่นั่นก็เป็นเพียงทฤษฎี เป็นเพียงสิ่งที่ล่องลอยอยู่ในความคิดเท่านั้น

ผมยอมรับว่า เพราะ “ปูน้ำตก” ตัวเขื่องที่หนีบนิ้วชี้ซ้ายของผมอย่างไม่บันยะบันยัง ทำให้ผมมานั่งคิดเล่นๆ คนเดียว จนเป็นตุเป็นตะถึงขนาดนี้ว่า ถ้าผมรักที่จะสนองความสุขให้กับตัวเอง ด้วยการมีงานอดิเรกที่เกี่ยวพันกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมแล้ว ผมน่าจะมีหลักการที่เป็นแนวทางในการสำรวจครั้งต่อๆ ไปของผมบ้างก็ดี

5.

เสาร์อาทิตย์ก่อน ผมว่าง ผมจึงหนีออกจากกรุงเทพไปเมืองจันทบุรี ผมอยากไปเมืองจันด้วยเหตุผลสองประการ นอกจากการไปพักผ่อน หลบหลีกความจำเจ และความวุ่นวายของเมืองหลวง คือ ประการแรก เพื่อไปดูพืชกินแมลงอย่างหม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes mirabilis)  ในธรรมชาติ  ผมรู้จักพืชชนิดนี้ตั้ง แต่เป็นเด็กตัวเล็กอยู่ ป. 4 ในชั่วโมงวิทยาศาสตร์  ความสนใจของผมในพืชกินแมลงก็เริ่มมาตั้ง แต่บัดนั้น ผมเคยซื้อมาเลี้ยงหลายครั้ง แต่ก็แห้งเหี่ยวตายลงทุกครั้งไป ผมเพิ่งมาเลี้ยงรอดเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี้เอง

เหตุผลประการที่สองนั้น เพื่อไปดูปลากัดหัวโม่ง (Betta prima) ในธรรมชาติ มัจฉามิตรของผมคนอื่นๆ ได้ไปสำรวจกันมาสี่ห้าเดือนก่อนหน้านี้แล้ว (โปรดอ่าน วันเดียวเที่ยวจันทบุรี) พวกพี่ๆ ทั้งหลายได้ปล่อยให้น้องเล็กอย่างผมนอนตีพุงรับลมทะเล เคล้าทรายขาวละเอียด และไอทะเลที่ชะอำอยู่กับ เพื่อนๆ ที่โรงเรียนเก่า ผมจึงรู้สึก “ยอมไม่ได้” เดี๋ยวจะคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะผมคงเป็นคนเดียวในกลุ่มที่ยังไม่เคยไปช้อนปลาที่เมืองจันท์เลย

ดังนั้น ผมจึงขับรถออกจากกรุงเทพฯ

6.

หลักการที่ผมคิดได้มีอยู่ไม่มาก และไม่น้ำเน่า และหลักการที่ผมคิดได้นั้น คงเป็นหลักการที่อาจ ทำให้คนอื่นๆ ออกไปช้อนปลาด้วยความสบายใจมากขึ้น แต่ทว่า บางคนก็อาจจะเป็นตรงกันข้ามก็ย่อมได้ ผมขอเตือนด้วยความเป็นห่วง

ตั้ง แต่โดนปูหนีบ ผมมักนั่งคิดนิ่งๆ คนเดียวว่า “ทำไมปูถึงหนีบนิ้วผม” คำตอบที่ได้จากหัวสมองอันเดียวกับที่คิดคำถามก็ คือ ก็ เพราะ “ปูมันมีก้ามไว้หนีบหน่ะสิ” เหมือนคนเรามีตาไว้มอง มีปากไว้พูด มีหูไว้ฟัง หรือมีจมูกไว้หายใจ ผมจึงบอกตัวเอง บอกอย่างสมเพศว่า คำถามที่ผมถามตัวเองนั้น ผมควรถามว่า “ทำไมผมจึงถูกปูหนีบที่นิ้ว” มากกว่า

ลองกลับไปอ่านคำถามทั้งสองคำถามอีกครั้ง ความหมายของมันไม่เหมือนกัน และยังส่อไปถึงนัยที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงด้วย

ปูมัน “หนีบ” โน่น “หนีบ” นี่อยู่เป็นอาจิณของมันอยู่แล้ว แต่ถ้าผมกับปูไม่เจอกัน นิ้วของผมกับก้ามของปูไม่พบกัน ผมคงไม่ถูกปูหนีบหรอก ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้

หรืออาจจะแปลความหมายอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าผมช้อนปลาอย่างไม่รบกวนธรรมชาติมากนัก ผมก็ไม่ต้องร้องโอดครวญอยู่คนเดียว นี่ยังดีที่เป็นแค่ “ปู” ไม่ใช่ “งู”

ช้อนปลาเฉยๆ ย่อมรบกวนธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะอย่างน้อยเราก็ไปรบกวนปลา รบกวนแหล่งที่อยู่อาศัยของมัน แต่ถ้าคิดอย่างนี้ ก็คงจะสุดโต่งจนเกินไป อย่างน้อยเจตนาของการช้อนปลาก็ เพื่อเอาไปศึกษาทั้งในเรื่องการจำแนกสายพันธุ์ (identify) การนำไปเพาะพันธุ์ในที่เลี้ยง (breeding in captivity) และในขณะเดียวกันก็เป็นการศึกษาในเชิงพฤติกรรม (behavior)  ของปลาตัวนั้นๆ ด้วย

ผมไม่ได้ขัดขาตัวเอง แต่ผมเพียงต้องการให้ทุกคนฉุกคิดว่า ขอบเขตของการจับปลานั้นควรมีมากน้อยเพียงไร จับเท่าไรถึงพอ จับอย่างไรที่จะรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด จับอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์เพียงพอกับชีวิตน้อยๆ ที่ต้องสูญเสียอิสรภาพ หรือบางครั้งแม้กระทั่งชีวิต เพื่อมาอยู่ในตู้กระจก หรือน้ำยาดอง

ผมไม่ได้ต้องการว่าใคร เพียง แต่ผมต้องการเตือนตัวเอง เตือนอย่างจริงจัง

ผมเคยไปสำรวจปลากัดมหาชัย (Betta sp. “Mahachai) กับพี่ๆ เพราะด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบ ทั้งทริป เราจับได้เพียงตัวเดียว ตัวนั้นเป็นตัวเมีย คนขายก๋วยเตี๋ยวหน้าป่าจากที่เป็นแหล่งอาศัยของปลากัดชนิดนี้ บอกว่า มีคนมาจับเอาปลากัดในป่าจากนี้ไปบ่อย เอาไปคราวละหลายๆ ตัว ขากลับเราแวะตลาดนัดสวนจัตุจักร ปลากัดมหาชัยมีวางขายอยู่อย่างเกลื่อนกลาด หาง่ายยิ่งกว่าในแหล่งที่มันเกิดเสียอีก

ผมเกิดไม่ทันเวลาที่ปลาหมูอารีย์ (Botia sidhimonki) มีอยู่อย่างมากมายในธรรมชาติ ตอนนั้น ผมคงเป็นเพียงเด็กตัวเล็ก ๆ ที่ไม่รู้ภาษีภาษาอะไร แต่ผมได้ยินว่า “พอมีเขื่อน พอมีออเดอร์จากตลาดปลาสวยงาม แล้วก็หมดไปจากธรรมชาติ” และผมเชื่อว่าอีกไม่นานมันคงจะสูญพันธุ์ อันเนื่องมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีพ่อแม่พันธุ์อย่างจำกัด ส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เลือดชิด” (inbreed)

7.

ไม่นานนัก มีหนุ่มอังกฤษคนหนึ่งที่รักการผจญภัย ชอบจับโน่นจับนี่มาเลี้ยงตั้ง แต่เด็กๆ เมื่อโตขึ้น เขามีอาชีพจับสัตว์ป่ามาขายให้สวนสัตว์ ซึ่งในยุคแรกๆ นั้น เป็นสถานที่ที่คึกคัก และทำกำไรให้กับเจ้าของกิจการอย่างมหาศาล พ่อแม่จะพาลูกๆ มาเที่ยวดูสัตว์นานาชนิด ที่ถูกมองว่าเป็นของแปลก ความรุ่งเรืองของกิจการสวนสัตว์ในอังกฤษ และยุโรปหมายถึงความรุ่งเรือง และรุ่งโรจน์ในชีวิตของเขาเช่นกัน เขามีรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างไม่น่าเชื่อ

เขาได้รับออร์เดอร์จากสวนสัตว์ต่างๆ อย่างล้นมือ จนวันหนึ่ง เขาเริ่มสังเกตได้ว่า สัตว์ป่าที่มีอยู่อย่างล้นหลามนั้น ได้ลดจำนวนลงอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนหนึ่งก็เป็น เพราะเขา ส่วนสัตว์ป่าที่จับได้ และถูกส่งให้สวนสัตว์นั้น ส่วนใหญ่จบชีวิตลง ด้วยความไม่รู้ และการเลี้ยงที่ไม่ถูกต้องของน้ำมือมนุษย์

คงไม่สายเกินแก้ เขาจึงตั้งที่เลี้ยงสัตว์เล็กๆ ภายในบ้านพักของเขาในเกาะเล็กๆ ที่มีชื่อว่า Jersey Island อยู่ทางตอนใต้ของเกาะอังกฤษ โดยมีจุดประสงค์ เพื่อศึกษาธรรมชาติของสัตว์ต่างๆ และพยายามผสมพันธุ์พวกมันในที่เลี้ยงให้ได้ เขาจัดกรงอย่างพิถีพิถันจากการศึกษา และเฝ้าสังเกตในธรรมชาติ พร้อมกันนั้น เขาก็ได้ตั้งกองทุนขึ้น เพื่อใช้ศึกษาธรรมชาติของสัตว์ป่าชนิดต่างๆ อย่างจริงจัง

สวนสัตว์เล็กๆ ได้เริ่มขยับขยายเติบโตขึ้น และได้เป็นสวนสัตว์แห่งแรกที่มิได้เป็นเพียงกรงขังสัตว์ป่า ให้มนุษย์ได้เชยชมอย่างเดียว แต่ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ และศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติของสัตว์ชนิดต่างๆ และในขณะเดียวกัน ก็มีแนวคิดในการพยายามผสมพันธุ์สัตว์ป่าในที่เลี้ยง และเมื่อได้จำนวนมากพอ ก็นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ อย่างค่อยเป็นค่อยไป บัดนี้ สวนสัตว์ทั่วโลก ดำเนินงานอยู่บนหลักการดังกล่าวอยู่ไม่มากก็น้อย สวนสัตว์ในปัจจุบัน นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของครอบครัวในวันหยุด ยังเป็นสถานที่ให้ความรู้  และเป็นหลักประกันของการคงอยู่ของสายพันธุ์สัตว์ป่านานานชนิด

เขาผู้นั้น คือ Gerald Durrell ผู้ก่อตั้งสวนสัตว์เจอร์ซี่  (Jersey Zoo) และกองทุนสัตว์ป่า Jersey Wildlife Trust ที่มีสาขาอยู่ทั้งในยุโรป และอเมริกา เขาเขียนหนังสือหลายเล่ม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของเขาอย่างชัดเจน และยังเรียกร้องให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นดังกล่าว

สิ่งที่เขาทำเป็นจริง และประสบความสำเร็จ สัตว์หลายชนิดเกิดในสวนสัตว์หลายชั่วอายุ และลูกหลานของสัตว์เหล่านี้ก็ได้มีโอกาสกลับไปอยู่ในสถานที่เดิมของบรรพบุรุษของมัน สัตว์บางตัวถึงกลับเคยสูญพันธุ์ไปแล้วในธรรมชาติ

ผมรู้เรื่องนี้มานาน แต่เพิ่งจะมาคิดอย่างจริงจัง ก็ตั้ง แต่โดนปูหนีบคราวไปจับปลาที่เมืองจันท์

 

หลายสิ่งเริ่มจากความเจ็บปวด

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org