: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


หมายแรกริมถนนสาย ธนบุรี-ปากทอ

ปลาสอด (Poecilia sp.) ปลาต่างถิ่นที่มาอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำของไทย

หมายแรก

"ลูกปลาตะเพียนน้ำตก (Puntius binotatus) ตอนเล็กจะมีจุดๆ ตามตัวแบบนี้แหละ"

"อยากรู้ไม๊ว่าทำไมเค้าถึงเรียกว่าปลาหนามหลัง (Mystacoleucus marginatus) ลองเอามือลูบย้อนตรงก่อนถึงครีบหลังมันดูสิ จะมีเดือยโผล่ออกมาอันนึง"

"เออ ต้นไหนครับหมามุ้ย" "ต้นข้างๆ แขนพี่นั่นแหละ" "จะว๊าก!"

เจ้าแต้วแล้วอกเขียวที่บินหลงมานอนแบบอยู่หน้าบ้าน ป่านฉะนี้จะเป็นฉะไหนบ้างก็ไม่รู้

บรรยากาศการจับปลาที่ รีสอร์ท   ภโวทัย

"ไหนดูดิ๊ได้อะไรรึเปล่า" "มี แต่ใบไม้พี่"

พี่โน่สาธิตการจับปลาใต้หิน

ปลากระทิงลายที่พี่โน่จับได้

ความพยายามของพี่โทนี่ มะละกอแทนแท่นโฟม, ขนไก่แทนพูกัน, ลูกแมคแทนเข็มหมุด ปลาน้อยเจ้าไม่ตายเปล่าหรอก

ปลาน้ำหมึกโคราช ( แต่มาพบอยู่ในจังหวัดราชบุรี)

"กิ๊กมาดูแมลงปอตัวนี้ดิ แปลกดี ตอนเกาะหัวอยู่ใต้น้ำ"

น้ำตกเก้าชั้นในม่านไผ่

"ปลาอะไรอ่ะพี่?" "ไม่รู้เหมือนกันหว่ะ" "ปลาซิวพันธุ์ใหม่แน่ๆ เลยพี่"

"ทำไรกันอยู่ครับ" "โห พี่สุดเทห์เลย ขอถ่ายรูปหน่อยนะครับ"

ปลาพลวง (Neolissochilus stracheyi) ขนาดกลางๆ ที่จับได้

ลูกปลาพลวงจะมีจุดที่โคนหางแบบนี้ ตอนแรกจับได้นึกว่าเป็นปลาซิวพันธุ์ใหม่ อิ อิ

"บอกแล้วจะดูดอกบัวตองไม่ต้องไปไกลถึงแม่ฮ่องสอนหรอก"

"พี่นณณ์ ดูดอกผักตบสีม่วงอ่อนๆ สวยดี"

Siamensis mobile ณ ที่ทำการตำรวจตระเวนชายแดน กองร้อย 137

"ระวังนะพี่ชัน ลื่นด้วย เว้ยยยยยย"

ต้นเตยเวียน ที่จะขึ้นอยู่ริมน้ำเสมอ

น้ำตกผาแดง เป็นหน้าผาจริงๆ หลุดจากตรงนี้ไปก็มีชั้นหินอีกหน่อยเดียวแล้วก็ลงดิ่งยาวตลอด

"นณณ์ ลงไปอันตรายนะเว้ย" "ไม่เป็นไรพี่ ดูแล้วถ้าหลุดไปมีแท่นรับอีกชั้น ยังไงก็ต้องมาถ่ายจากด้านล่างหน่อย" "พี่โน่ ดึงขึ้นไปที ขึ้นไม่ได้ แหะ แหะ"

ภาพหมู่ "ลุงครับ ปากกระบอกปืนหันเข้าหัวกิ๊กพอดีเลยครับ" "ไม่เป็นไรหรอก ไม่ได้ขึ้นไกไว้" "แหม ยังเสียวอยู่ดีแหละครับ"

"ปลาเต็มเลยพี่"

"เอ้าถ่ายเร็วๆ เดี๋ยวปลาตายกันพอดี"

"เยยยยยย้ ปลาค้อบอลเทียต้า มีจริงๆ ด้วยพี่โน่"

"เอ ตัวเมื่อกี้สีชมพูตัวนี้สีออกเหลืองๆ แหะ"

ปลาซิวใบไผ่สีสันแปลกตา

"โห เลือดไหลใหญ่เลย" "ดีครับพี่นณณ์ เลือดชั่วจะได้ไหลออกไปบ้าง"

"พี่ครับ น้ำตกผาแดงไปอีกไกลไม๊ครับ?" "รถโฟร์วีล รึเปล่า" "ครับ" "เออ งั้นตรงขึ้นเขาไปเนี๊ย ไม่ไกลหรอก ทางแคบนะระวังหน่อย" (พี่ครับ สำหรับมือใหม่อย่างผม ไกลอักโขอยู่ครับ ขับไปเกร็งไปยังเมื่อยแขนอยู่เลย)
 

ราชบุรี (ชายแดนตะวันตก)

 เรื่อง: อาทิตย์ ประสาทกุล

ภาพ: นณณ์ ผาณิตวงศ์, มาโนช เลิศชัยพร, อาทิตย์ ประสาทกุล

บรรยายภาพ: นณณ์ ผาณิตวงศ์

1.

“เฮ้ยกิ๊ก…เสาร์นี้เอ็งว่างเปล่าวะ”

“ว่างครับพี่ ว่า แต่ว่าจะไปไหนดีหล่ะครับ”

“เห็นโทนี่บอกว่า อยากไปราชบุรี ไปจับปลาน้ำหมึก”

“ว้า..ไปที่เดิมอีกแล้ว ผมไปมาแล้วตั้งสองครั้ง เบื่อแล้วครับ”

“เออ…แล้วเอ็งจะไปที่ไหนหล่ะ คิดมาสิ เช้า-มืดกลับนะ”

“............คิดไม่ออกครับ”

“เอาเป็นว่าตามใจคนมีจุดหมายก็แล้วกัน”

“ครับ พี่นณณ์ แล้วพี่โน่ไปด้วยเปล่า”

“ไปสิ ไปราชบุรีขาดคนนี้ไม่ได้”

“แล้วพี่โอ๋หล่ะครับ”

“เห็นว่าไปไม่ได้นะ ติดธุระกะแม่”

ปีนี้ฤดูหนาวดูเหมือนว่าจะมาช้ากว่าปีก่อนๆ มาก ซึ่งนั่นหมายถึงการออกไปสำรวจปลาของพวกเราต้องเลื่อนออกช้าไปด้วย ฤดูฝนนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีน้ำเยอะ ทำให้ไม่สะดวกในการจับปลา พอฝนหยุดตก ลมหนาวพัดผ่าน น้ำในลำธาร  ห้วย คลอง หนอง บึงก็ค่อยลดน้อยลง พวกเรามารวมตัว เพื่อสำรวจปลากันอีกครั้ง หลังจากห่างหายกันไปนานมากกว่า 6 เดือน  ในช่วงเวลาที่ห่างหายจากกันไปนั้น บางคนก็วุ่นวายอยู่กับการเรียนหนังสือ และการงาน บางคนก็วุ่นวายอยู่กับการเพาะปลาที่บ้านอย่างจริงจัง มีเหตุผลต่างๆ กันไป  การออกไปช้อนปลาเล่นอย่างจริงจังในวันหยุดนับว่าเป็นการพักผ่อนหย่อนใจสำหรับพวกเราอย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากนี้ ยังเป็นเสมือนหนึ่งปริศนาที่ท้าทายให้เราค้นหา สร้างความตื่นเต้นคึกคักให้กับหมู่เราอย่างถ้วนหน้าทุกครั้งไป

ทริปแรกของฤดูใหม่แห่งการสำรวจปลา เราตกลงกันไปจังหวัดราชบุรี ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ทำให้เราสามารถไปแบบเช้า-มืดกลับได้ จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับหลายๆ คนที่มีทางบ้านเป็นห่วง และหวงแหนอยู่เนืองๆ อีกทั้งรายงานการสำรวจ และศึกษาปลาในจังหวัดราชบุรี ก็มีอยู่น้อยนิด ทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจมากขึ้นไปอีก เพราะราชบุรีอยู่ใกล้มหานครหลวงอย่างกรุงเทพกระมังที่ ทำให้ราชบุรีเป็นดั่ง ”เส้นผม” ที่บดบัง “ภูเขา” ของการสำรวจปลาไทยอยู่ก็เป็นได้

2.

บนเส้นทางสู่จุดหมาย

น่าแปลกมากว่าระหว่างเดินทางสู่จังหวัดราชบุรีไปตามทางด่วนสายดาวคะนอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนธนบุรี-ปากท่อนั้นไม่มีใครหลับแม้ แต่คนเดียว บรรยากาศในรถเป็นไปอย่างครื้นเครง แม้ว่าพวกเราจะต้อง “แหกขี้ตา” ตื่นขึ้นมา แต่เช้าตรู่เพียงใด เสียงหัวเราะ และเสียงพูดคุยดังขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ระหว่างทางบนถนนสายธนบุรี-ปากท่อ ริมไหล่ทางเป็นแอ่งน้ำขนานไปโดยตลอด ในบางช่วงก็มีป่าจากให้เห็นบ้างเป็นระยะ เราพูดคุยกันถึงแหล่งกระจายพันธุ์ของปลากัดป่ามหาชัย (Betta sp. “Mahachai”) ผมชี้ชวนให้พี่ๆ ลงสำรวจปลากันในแอ่งน้ำข้างทางเผื่อจะมีของดีให้เราได้เชยชม

“เล็บโตสไปโรซิส เล็บโตสไปโรซิส” เสียงร้องเพลงดังขึ้นจากใครคนหนึ่งในรถ “มัน คืออะไรพี่” ผมถามด้วยความฉงน “ก็โรคฉี่หนูไง ระบาดตามแหล่งน้ำขังนิ่งๆ แบบนี้แหละ” พี่โน่ขู่อย่างเอาจริงเอาจัง แต่พี่นณณ์ และผมก็ไม่ฟังเสียง เปิดท้ายรถหยิบสวิง แล้วลงย่ำกอหญ้าลงไปช้อนปลาในทันที พวกเราเพียง แต่คิดว่าคงไม่โชคร้ายถึงปานนั้น พี่นณณ์บอกว่ามันระบาดอยู่ แต่ทางอีสาน คงไม่ลามมาถึงที่นี่หรอก

“เฮ้ยปลาสอดนี่หว่า จับปลาสอดได้” พี่นณณ์ตะโกนร้องบอกคนขี้กลัวสองคนบนถนน “มีปลาหางนกยูงมั้ย” เสียงอันเจื้อยแจ้วของพี่โทนี่ถามขึ้นอย่างทันควัน “ยังไม่เจอพี่” “เย้..ผมได้หัวตะกั่ว(Aplocheilus panchax) สีสวยด้วย” พร้อมกับยกสวิงที่มีปลาตะกั่วครีบแดงให้พี่โน่ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เราไม่ได้อยู่ในอเมริกากลางที่มีปลาสอด และปลาหางนกยูงในธรรมชาติ แต่เรากำลังอยู่ชานเมืองกรุงเทพที่ปลาแปลกถิ่น (Alien Species) กำลังคุกคามสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศวิทยาของแหล่งน้ำแถวนี้อย่างน่ากลัว ผมยังจำได้ดีว่าเมื่อเดือนก่อน หลังจากผมไปศึกษาบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนที่มหาวิทยาลัยแล้ว ผมมีโอกาสได้เที่ยวต่อในเมืองเชียงใหม่ และก็ได้ไปแอ่วที่อุทยาแห่งชาติน้ำพุเจ็ดสี ในอำเภอฝาง น้ำพุเจ็ดสีผุดขึ้นจากใต้ดิน และไหลเป็นลำธารลัดเลาะไปตามไหล่เขา เมื่อน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นแอ่งใหญ่กระทบกับแสงจากดวงอาทิตย์แล้ว แสงทั้งเจ็ดสีก็สะท้อนออกให้เห็นอย่างงดงาม การเดินทางไปถึงตาน้ำพุดังกล่าวจะต้องเดินลัดเลาะไปตามไพรพฤกษ์ ผมไม่ลืมที่จะหยิบสวิงติดมือไปด้วยความหวังว่าจะพบปลาแปลกๆ ที่น่าสนใจ แต่สิ่งที่ผมพบอยู่อย่างดาษดื่นก็ คือ ปลาหางนกยูง (Poecilia reticulata) ทำเอาผมบ่นพึมพำกับตัวเอง ว่าใครกันหนอ มีความพยายามเอามาปล่อยในป่าเขาเช่นนี้ และอยากจะบอกเขาเหลือเกินว่าเขากำลังทำลายระบบอันซับซ้อนของธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว แหล่งน้ำในธรรมชาตินั้นก็มีปลาไทยชนิดอื่นๆ กินลูกน้ำอยู่แล้ว ถ้ามียุงมาไข่ และอีกประการหนึ่งก็ คือไม่มีความจำเป็นจะต้องปล่อยปลาหางนกยูงในแหล่งน้ำไหลเลย เพราะยุงจะไข่ในน้ำนิ่งเท่านั้น

เราผิดหวังมาก จึงขึ้นรถอย่างไม่รีรอ

3.

ความสมหวังที่ภโวทัยรีสอร์ต

อีกสักสองชั่วโมงต่อมา เรามาถึงอำเภอสวนผึ้งอย่างปลอดภัย จุดมุ่งหมายของเรา คือ ภโวทัยรีสอร์ต พี่โทนี่หมายมั่นปั้นมือว่าจะมาเก็บตัวอย่างของปลาน้ำหมึกโคราช (Barilius koratensis) ที่ได้รับรายงานว่าพบในห้วยน้ำข้างรีสอร์ตสวยแห่งนี้ เราลัดเลาะไปตามซอกซอยลึกเข้าไปจากถนนใหญ่ แวะช้อนปลากันในลำธารเล็กข้างทาง แต่ก็พบ แต่เพียงปลาซิวสุมาตรา (Rasbora sumatrana) ซิวหางแดง (Rasbora borapetensis) ปลาติดหิน (Homaroptera sp.) ปลากริมควาย (Trichopis vittatus) และลูกปลาน้อยของปลาตะเพียนน้ำตก (Puntius binotatus) เราจึงตั้งใจมุ่งหน้าต่อไปยังจุดหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าที่หมายนี้เราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ขณะที่เรากำลังลงอวนจับปลา และช้อนปลากันอย่างขะมักเขม้นนั้น ผมตะโกนบอกพี่โทนี่ให้ลงอวนในคุ้งน้ำใต้ต้นไม้ใหญ่ พอพี่โทนี่กำลังจะเดินเข้าไป ก็ได้ยินเสียงใสออกเหน่อๆ แบบชาวราชบุรี “พี่ๆ ระวังหม๊ามุ่ย” ผมก็นึกว่ามีสาวมาแซวพี่โทนี่ หรือพี่นณณ์ซะแล้ว ก็ได้ แต่หัวเราะหึ หึในใจ แต่เมื่อกำลังจะก้าวไปใต้ต้นใหม้ต้นนั้นอีก ก็ได้ยินเสียงเดิมประโยคเดิม สอบถามจนรู้ว่าต้นไม้ใหญ่ที่เรากำลังจะไปลงอวนทับตลิ่งข้างใต้นั้น คือต้นหมามุ่ย แม้ว่ามันจะมีดอกสีม่วงเล็กดูน่าเอ็นดู แต่ต้นไม้ต้นเดียวกันนี้มีผลที่ปกปกคลุมด้วยขน ถ้าสัมผัสผิวใคร ก็จะเหมือนตกนรกทั้งเป็น ผมได้ยินมาอย่างนั้น และก็ไม่อยากที่จะลอง ต่อไปคราวหน้าเวลาจะจับปลา ก็ต้องหัดสังเกตสังกาไว้บ้าง ไม่ใช่ไม่ดู “ตาม้าตาเรือ” และโดนหมามุ่ยให้โทษเอา

ด้วยความเป็นคนแปลกถิ่นของผู้โดยสารทั้งหมดในรถ เราจึงหลงทางเข้ามาถึงบ้านห้วยผาก หมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำภาชี ที่แห่งนี้เราเคยมาแล้วสองครั้ง แต่ก็เก็บตัวอย่างปลาได้ไม่มากนัก ครั้งนี้ได้โอกาสที่จะสำรวจอีกครั้ง แต่ทว่า แม่น้ำไม่เป็นใจ น้ำนั้นมากล้นจนเปี่ยมตลิ่ง เราจึงต้องขึ้นรถ เก็บสัมภาระอุปกรณ์ที่อุตส่าห์ช่วยกันแบกลงไปตามทางที่ทำไว้สำหรับให้วัวควายลงเล่นน้ำกลับขึ้นใส่ท้ายรถที่เดิม

แม้เราจะไม่ได้ลงจับปลา แต่เราก็เห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการปล่อยนกแต้วแล้วอกเขียว (Hooded Pitta; Pitta sordida cucullata) ที่เจ้ากรรมมานอนแผ่อยู่หน้าประตูบ้านพี่นณณ์ในกรุงเทพเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นกตัวนี้เชื่อว่าอพยพหนีฤดูหนาวอันหนาวเหน็บมาจากเทือกเขาฮิมาลายา ประเทศจีนตอนใต้ และทางตอนเหนือของทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านมาทางประเทศไทย เพื่อลงไปสู่มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่คงหลงเข้ามาในเมืองหมดแรงแล้วก็มานอนแบบอยู่หน้าบ้านพี่นณณ์  โชคดีของเจ้าแต้วแล้วที่พี่นณณ์ช่วยดูแลจนมันแข็งแรงเหมือนเดิม แล้วนำมาปล่อยในวันนี้  นกแต้วแล้วอกเขียวโผบินออกจากกล่องกระดาษสู่อิสรภาพทันทีเมื่อฝากล่องถูกแย้มเปิดออก การคืนอิสรภาพในกับนกตัวนั้น แม้ว่าจะไม่รู้ว่ามันจะหาหนทางไปยังจุดหมายปลายทางของมันถูกหรือเปล่า และไม่รู้ว่ามันจะต้องจบชีวิตในดินแดนแห่งนี้หรือไม่ พวกเราโดยเฉพาะพี่นณณ์คนพบก็คงสบายใจ และรู้สึกตื้นตันไม่มากก็น้อย กับการให้อิสรภาพแก่อีกหนึ่งชีวิต เสมือนหนึ่งเป็นเครื่องเตือนใจให้เรายึดมั่นในอิสรภาพของตัวพวกเราเอง

ถึงเวลาประมาณเที่ยง ทุกคนบ่นพึมพำว่าหิวข้าว เราจึงตกลงกันว่าจะมุ่งหน้าต่อไปยังภโวทัยรีสอร์ตโดยจะไม่แวะข้างทางที่ไหนอีก พี่โทนี่ดูตื่นเต้นเป็นพิเศษคง เพราะนี่เป็นสถานที่ที่เขาปรารถนา ทันทีที่ลงจากรถ เราขออนุญาตเจ้าของสถานที่ในการเข้าไปสำรวจปลา และก็ได้รับความร่วมมือโดยดี เราเดินจากที่จอดรถลัดเลาะลงไปตามทางเดินจนถึงลานหินริมห้วย เราสั่งข้าวกระเพราไก่ไข่ดาวอาหารยอดนิยมของชาวกรุงทันทีกับพนักงานที่มารับบริการถึงที่ เราใช้อวนทับตลิ่งลากหาปลาในลำน้ำเล็กที่แยกออกมาจากทางน้ำหลัก น้ำไหลเอื่อย ทำให้เราสามารถลงอวนได้อย่างคล่องแคล่ว เมื่อผมเห็นปลาว่ายเข้าในอวน ผมร้องทันทีให้พี่โทนี่ยกอวนขึ้น “ใช่แล้วครับ นี่แหละครับ” พี่โทนี่ร้องด้วยความดีใจ เราได้ปลาน้ำหมึกโคราชสี่ตัวทันทีในการลงอวนครั้งแรก พี่นณณ์ และพี่โน่ไม่ยอมที่จะให้เราสองคนจับปลาได้ แต่ผู้เดียว จึงลงอวนทับตลิ่งอีกหนึ่งอันที่เตรียมมาในบริเวณที่ใกล้ๆ กันในคุ้งน้ำเดิม ปรากฏว่าพี่ๆ ทั้งสองจับได้ปลาชนิดเดิมมากถึง 5 ตัว ซึ่งคงจะเป็นปลาฝูงเดียวกันกับที่ผม และพี่โทนี่เพิ่งจับได้

“โธ่ ไม่มันเลย” พี่นณณ์บ่นพึมพำ “พี่โทนี่จับครั้งแรกก็ได้แล้ว ไม่ลุ้นเลย” ก็จริงอย่างที่ว่า ความตื่นเต้น และการเสาะแสวงหามักเป็นส่วนหนึ่งของความสนุกเสมอ

เราจัดการกับอาหารมื้อเที่ยงของเราบนโต๊ะยาวริมตลิ่งอย่างรวดเร็ว ในขณะที่พี่นณณ์แอบไปนั่งกินอยู่ริมลำธารหาจุดที่ปลาว่ายผ่านเยอะๆ เพื่อจะถ่ายรูปใต้น้ำ กินเสร็จ ผมก็ลงจับปลาต่อ ในขณะที่พี่นณณ์สาละวนกับการถ่ายรูปใต้น้ำ และแมลงปอ พี่โน่วุ่นอยู่กับการช้อนปลาที่อยู่ตามก้อนหิน ส่วนพี่โทนี่ก็จัดแจงเตรียมอุปกรณ์สำหรับ “ดองปลา”

จะว่าพี่โทนี่เตรียมตัวไม่ดีก็ไม่ได้ เพราะเจ้าตัวก็ยืนยันว่าตัวเองเอาอุปกรณ์ในการดองปลาใส่รถมาแล้ว แต่หาอย่างไรก็ไม่พบ คงจะหล่นหายที่ไหนสักแห่ง พี่โทนี่เดินไปเดินมาก็กลับมาพร้อมมะละกอดิบลูกเล็กลูกหนึ่ง “ที่นี่เค้าไม่มีแผ่นโฟม ลังกระดาษก็ไม่มี ผมเลยได้มา แต่ไอ้นี่ แต่ผมยังมีปัญหา คือ เข็มหมุด และพู่กันผมหายไปไหน” “ไม่เป็นไรครับ ผมบอก หาอะไรเอาแถวนี้ก็ได้” ผมบอก พร้อมกับไปขอไส้แมคเย็บกระดาษมาแทนเข็มหมุด แล้วแอบเด็ดขนไก่จากไม่ปัดขนไก่ในร้านขายของที่ระลึก เพื่อเอามาใช้แทนพู่กัน

ผมรับอาสาเอามะละกอไปฝานเอาเนื้อออกให้ด้านหนึ่งเรียบพอที่จะตรึงปลาได้ ส่วนพี่โทนี่โดยความช่วยเหลือของพี่โน่ก็เตรียมผสมฟอร์มาลินกับน้ำในลำธารในอัตราส่วนหนึ่งต่อสี่ หลังจากนั้นจึงเริ่มนาทีระทึกขวัญ (สำหรับผม) “พี่โทนี่ โหด” “โห เลือดเย็นจริงๆ พี่” เสียงตะโกนเย้าหยอกจากบรรดา เพื่อนๆ “ผมทำไป เพื่อการศึกษาครับ จะให้ผมจับปลาเป็นๆ มานับเกล็ดเหรอ แต่ผมจะทำอย่างไม่ทรมานที่สุด” พี่โทนี่บอกอย่างจริงจังถึงความจำเป็นที่เขาต้องดองปลา เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาในระดับปริญญาโททางด้านอนุกรมวิธานปลา (taxonomy) พร้อมกับค่อยๆ บรรจงหย่อนปลาลงในถังน้ำแข็งที่เย็นจัด เพื่อให้ปลาสลบไสลไปอย่างสงบด้วยความเย็น ก่อนที่จะนำปลามาตรึงบนมะละกอ เพื่อให้ครีบนั้นกางออกสะดวกในการศึกษาในเวลาต่อไป และเมื่อเสร็จกรรมวิธีอันยุ่งยากแล้ว ปลาตัวน้อยก็ลงไปนอนแน่นิ่งอยู่ในสารละลายฟอร์มาลิน นับเป็นคุณูปการสำหรับนักมีนวิทยาเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากปลาน้ำหมึกโคราชที่พบในแหล่งน้ำนี้แล้ว เรายังพบปลาซิวสุมาตรา (Rasbora sumatrana)  ปลากระทุงเหว ปลาติดหิน และปลากระทิงอีกด้วย เมื่อห้าเดือนก่อนที่เรามาสำรวจปลา ณ ที่นี้ เราก็ยังเจอปลาปักเป้าด้วย

4.

น้ำตกเก้าชั้น

“ไปไหนต่อดี” พี่นณณ์ซึ่งรับหน้าที่เป็นคนขับรถสอบถามสมาชิกในรถถึงจุดหมายต่อไปของเรา

“จะไปไทประจัน หรือเก้าชั้นดีหล่ะ” พี่โน่ถามต่อ ไทประจัน คือ อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทประจัน ตั้งอยู่ที่กิ่งอำเภอบ้านคา และ อ.ปากท่อ  ส่วนเก้าชั้น คือ น้ำตกเก้าชั้น ซึ่งอยู่ในอำเภอสวนผึ้ง

“ไปไหนก็ได้ครับ แต่ผมไม่อยากไปที่เดิมๆ ” ผมตอบคำถามของพี่ๆ ง่ายๆ แต่แกมไปด้วยความ “มากเรื่อง” เพราะทั้งสองแห่งก็เป็นสถานที่ที่ผมเคยมาจับสำรวจปลาแล้วทั้งนั้น

“เฮ้ย…ให้คนไม่เคยไปเห็นบ้างสิวะ” พี่นณณ์พูด เพราะทริปก่อนๆ ที่เรามาจับปลานั้นเป็นวันธรรมดา พี่นณณ์จึงไม่ได้มากับพวกเราด้วย ทำงานคอยลุ้นอยู่ที่กรุงเทพ

“งั้นตกลงไปน้ำตกเก้าชั้น ใกล้ที่สุด”

“ครับ” สำหรับพี่โทนี่นั้นจะไปที่ไหนก็ไม่ว่า เพราะในขณะนั้นดูเหมือนเขาจะเบิกบานเป็นพิเศษ ปลาน้ำหมึกโคราช ที่เขาถวิลหา ในที่สุดเขาก็พบกับมันด้วยตัวเองแล้ว

น้ำตกเก้าชั้นอยู่ไม่ไกลจากภโวทัยรีสอร์ตเท่าไรนัก เราลัดเลาะออกจากซอกซอยมาถึงถนนใหญ่ วิ่งต่อไปผ่านที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง และเลี้ยวซ้ายตรงทางแยก มีป้ายบอกชัดเจน เข้าไปอีกซัก 3 กิโลเมตร ก็จะถึงตัวน้ำตก ริมน้ำข้างสะพานมีทุ่งดอกบัวตองบานสีเหลืองอร่ามเต็มไปหมด ไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงแม่ฮ่องสอน ที่ราชบุรีก็มีให้เห็น ดอกสีม่วงอันอ่อนช้อยของผักตบชวาก็บานแข่งอวดประชันกันในลำน้ำในช่วงเวลานี้พอดี

น้ำตกเก้าชั้นเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนมาพักผ่อนแน่นขนัด เราไปในวันเสาร์ แคร่ไม้ไผ่ริมน้ำถูกจับจองไปหมดแล้ว บางคนพาครอบครัวมาเที่ยว ในขณะบางคนก็พาคู่รักของตนมาเปลี่ยนบรรยากาศ ก่อนทางเข้าน้ำตกมีอาหาร และเครื่องดื่มบริการอย่างครบครัน จนน่าเป็นห่วงว่าการอนุญาตให้นำอาหาร และเครื่องดื่มเข้าไปกินในบริเวณน้ำตก และไม่มีมาตรการจัดการอย่างเคร่งครัดนั้น การที่นักท่องเที่ยวทิ้งเศษขยะ และเศษอาหารลงในบริเวณน้ำตก จะ ทำให้เป็นผลเสียต่อน้ำตกเอง เป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไป เพราะในขณะนี้เศษขยะถูกทิ้งอยู่อย่างเกลื่อนกลาดทั้งขวดเบียร์ เศษแก้ว ห่อขนม ฝาโซดา ทั่วไปในบริเวณน้ำตกเก้าชั้นอันเต็มไปด้วยเสน่ห์ ปัญหาอีกประการหนึ่งก็ คือ การที่มีการต่อท่อเอาน้ำจากน้ำตกลงมาใช้ข้างล่าง จน ทำให้ท่อน้ำ (ทั้งท่อเหล็ก และพีวีซีสีฟ้าสด) นั้นบดบัง และเบียดเบียนทัศนียภาพของน้ำตกไปอย่างถนัดตา ถ้าจะทำอย่างนี้แล้ว อย่างน้อยควรจะมีการจัดการที่ดี ต่อท่อให้อยู่ไกล และหลบสายตาของผู้คนที่มาเที่ยวน้ำตก

เราทั้งสี่คนช่วยกันถือสวิง และถังน้ำสำหรับใส่ปลาลงจากที่จอดรถ เดินไปอีกไม่ถึงร้อยเมตรก็ถึงน้ำตกชั้นแรก ผู้คนที่คราคร่ำคงแปลกใจกับพวกเราที่ก้มๆ เงยๆ ช้อนปลากันอย่างสนุกสนาน พอได้ปลาตัวหนึ่ง ก็ตะโกนร้องให้อีกคนเข้ามาดู จับถ่ายรูป และก็ปล่อยไป มีอยู่เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เราจับกลับมาบ้าน มาน้ำตกเก้าชั้นคราวนี้ น้ำเยอะกว่าครั้งก่อนมาก ปลายฤดูฝน ต้นฤดูหนาวดังเช่นในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่สามารถพบลูกปลาตัวเล็กตัวน้อยอยู่ตามคุ้งน้ำ ที่น้ำนิ่ง หรือไหลเอื่อยอยู่ดาษดื่น เราพบทั้งลูกปลาค้อ (Acanthocobitis zonalternans) ลูกปลาพลวง และลูกปลาซิวใบไผ่ (Devario regina)

“นี่ทำอะไรกันอยู่” เสียงดังแว่วๆ มา แต่ไกลขณะเราสี่คนกำลังขมีขมันกับการช้อนปลาอย่างตั้งใจ ทันทีที่เราหันไปเราก็ต้องสะดุ้งเฮือกกันถ้วนหน้า เมื่อเห็นทหารในชุดพรางสี่นาย อาวุธครบมือ เป็นเจ้าของคำถามดังกล่าว “อ้อ จับปลามาศึกษาครับ” เราตอบอย่างตรงไปตรงมา ทหารทั้งหมู่นี้คงอยู่ในระหว่างการเดินลาดตระเวนตรวจการในพื้นที่ๆ อยู่ไม่ไกลจากชายแดนไทย-พม่าดังที่เรากำลังอยู่ในขณะนั้น 

อยู่ที่น้ำตกสักพักใหญ่ เราก็ขึ้นรถกลับด้วยความเหนื่อยล้า

5.

เส้นทางที่ท้าทาย และน่ากลัว สู่น้ำตกผาแดง

ผมตื่นมาอีกทีเมื่อรู้สึกว่าหัวของผมกำลังชนกับกระจกรถ และโยกเยกไปมาชนกับด้ามของอวนทับตลิ่งที่ยาวมาถึงที่นั่งของผมหลังรถ ผมพยายามข่มตานอนต่อ เพราะรู้สึกง่วงมาก ทั้ง เพราะนอนดึกมากในคืนก่อน และจำเป็นจะต้องตื่น แต่เช้า และจากความอ่อนเพลียจากการจับปลามาครึ่งค่อนวัน

“เราอยู่ที่ไหนครับนี่” ผมตะโกนถามด้วยความตกใจเมื่อลืมตาเห็นสภาพเส้นทางที่มีต้นไม้รกสองข้างฝั่งทาง “กำลังจะไปน้ำตกผาแดง แต่มันยังไม่ถึงซักที” พี่โน่บอกผม ในขณะนั้นตัวผมก็ยังเด้งขึ้นเด้งลงบนเบาะรถอยู่ตลอดเวลา เพราะเส้นทางที่เรากำลังจะไปทั้งชัน ทั้งแคบ ทั้งขรุขระ และเต็มไปด้วยหลุมบ่อ ผมลืมความง่วงไปทันใด และตื่นขึ้นมาดูทาง

เวลาผ่านไปนานพอสมควร เราก็ยังอยู่ในสภาพเส้นทางแบบเดิม และก็ยังไม่ถึงน้ำตกที่เราต้องการไปซักที สิ่งที่แปลกไปก็ คือ เรารู้สึกหูอื้อ เพราะเราไต่ขึ้นมาอยู่ในระดับความสูงที่เพิ่มขึ้น และเราเริ่มเห็นทิวทัศน์ของเบื้องล่างจากมุมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

“นี่จะเจอพวกพม่าหรือเปล่าครับพี่”

“เฮ้ย เอ็งอย่าพูดอย่างนี้สิวะ”

“นี่อยู่ในพม่าหรือเปล่าครับนี่”

 “นี่ ถ้าถึงสี่โมงยี่สิบห้าเมื่อไร ยังไม่ถึง เรากลับ ยิ่งมืดยิ่งลงลำบากนะ”

ผมไม่รู้ว่าในใจพี่ๆ คิดกันอย่างไรในขณะนั้น แต่สำหรับผมแล้วเต็มไปด้วยความตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูก จะบอกว่าเป็นความกลัวก็ไม่ผิด แต่ความกลัวนั้นเป็นความกลัวที่ท้าทาย ไม่ใช่ยอมจำนนต่อความกลัวนั้นโดยง่ายดาย ผมคิดเล่นๆ คนเดียวว่า ถ้าขับๆ อยู่แล้วมีพวกกะเหรี่ยงถือปืนสามสี่นายออกมากลางทางที่รถวิ่งจะทำอย่างไร ถ้าขับไปเรื่อยๆ แล้วไปโผล่อีกทีเป็นหมู่บ้านของพม่าหล่ะ อากาศเริ่มหนาวเย็นทุกขณะ ใจผมเย็นสั่นระริกไปด้วย

เวลาในขณะนั้นเลยสี่โมงยี่สิบห้ามาแล้ว “เฮ้ย…ถ้ากลับก็เสียดายสิวะ อุตส่าห์บุกฝ่าฟันมาถึงขณะนี้แล้ว” มีใครคนหนึ่งพูดขึ้น ทุกคนตอบรับด้วยความเห็นด้วย พี่นณณ์ขับรถไปข้างหน้าต่อไป ไม่สนใจใยดีกับสัญญาที่พวกเราตกลงกันไว้ ความกลัวอะไรก็ไม่น่าเจ็บใจเท่าความเสียดาย เรา “กลัว” ที่จะ “เสียดาย” ว่าทำไมเราไม่ไปให้ถึงจุดหมายข้างหน้า ซึ่งอาจจะไม่มีอะไรก็ได้ แต่ถ้าจะกลับรถก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะสภาพเส้นทางนั้นแคบรถวิ่งได้เพียงทางเดียว ระหว่างทางมีทางเบี่ยงเป็นระยะๆ สำหรับกลับรถ และหลบรถที่สวนกันมา แต่ทว่าเราเลยทางเบี่ยงนั้นมานานพอสมควรแล้ว และก็ยังไม่มีวี่แววที่จะถึงทางเบี่ยงอันต่อไป

“เย้…ธงชาติไทย” ผมเห็นธงชาติไทยสีน้ำเงิน แดง ขาวอยู่บนยอดเสา ขณะนั้นไม่มีลม ธงชาติจึงไม่ปลิวพริ้วไสว แต่มันก็เป็นธงชาติไทยที่สวยที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาในชีวิตจริงๆ   เรามาถึงเรือนไม้บัญชาการของตำรวจตระเวนชายแดน กองร้อย137 ที่ตั้งตระง่านอยู่กลางหุบเขา สักพักเราได้พบกับตำรวจผู้หนึ่งซึ่งออกมาทักทายกับคนแปลกถิ่นอย่างเรา หลังจากเราแนะนำตัว และบอกถึงวัตถุประสงค์ที่จะมาเที่ยวน้ำตก เราก็สอบถามถึงเรื่องต่างๆ “พี่ครับ แถวนี้มีพม่ามั้ยครับ” “โอ้ย…มันไม่กล้ามาหรอก แถวนี้มีตำรวจตระเวนชายแดนอยู่หลายกองร้อย กองทหารก็มี” ...อาทิตย์ ทองอินทร์ตอบพวกเราด้วยความเอ็นดู เราสอบถามทางไปน้ำตกจากพี่ตำรวจ และรู้ว่าอยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก เดินเท้าไปอีกประมาณ 200 เมตรก็จะถึง “เอ้า…เดี๋ยวผมพาไป” และพี่ตำรวจอาทิตย์ก็หายไปสักครู่ใหญ่ เราลงจารถมายืดเส้นยืดสาย เตรียมพร้อมสำหรับการผจญภัยต่อไป สักพักพี่ตำรวจอาทิตย์ก็กลับมาพร้อมกับปืนHK อีกหนึ่งกระบอกที่จะช่วยรักษาการพาเราไปน้ำตก นับเป็นน้ำใจอันงดงามที่มอบให้กับคนต่างถิ่นอย่างเรา ผมรัก และชื่นชมตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นมาทันทีทันใด

เส้นทางไปน้ำตกนั้นเป็นทางเล็กๆ มีต้นหญ้าปกคลุม สองข้างฝั่งทางเต็มไปด้วยกอไม้หลากหลายสายพันธุ์ทั้งพวกเฟิร์น ไผ่ กล้วย และขิงข่า เดินตามทางเข้าไปไม่นานเราเริ่มได้ยินเสียงน้ำตกแล้ว สักพักเราก็สามารถมองเห็นทางน้ำได้ ริมน้ำนั้นมีต้นเตยเวียนต้นใหญ่ตั้งตระง่านอยู่ ผมเพิ่งอ่านจากนิตยสารท่องเที่ยวมาว่าเตยเวียนนั้นเป็นสาสน์ป่า บ่งบอกว่าในบริเวณนั้นมีแหล่งน้ำ และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อผมเห็นเตยเวียนขึ้นอยู่ริมธารน้ำตก

เดินไปสักพักก็จะถึงเส้นทางลาดชันที่เป็นทางลงน้ำตก ผมนั้นไม่ได้เดินลง แต่ “ลื่น” เอามากกว่า เมื่อเรามาถึงน้ำตกผาแดงในกลางป่า ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าก็ คือ หุบเขาอันกว้างใหญ่ สามารถมองเห็นผืนไพรเบื้องล่างได้อย่างชัดเจน และชมทิวทัศน์ได้ไกลลิบลับสุดลูกหูลูกตา หินก้อนใหญ่ในบริเวณน้ำตกนั้นเป็นสีแดง และสีก็จะติดมือเมื่อจับตะกอนดินสีแดงบนหินเหล่านั้น เหตุนี้กระมังน้ำตกทีเป็นผาชันแห่งนี้จึงได้รับชื่อว่า “น้ำตกผาแดง”

ปลาในน้ำตกนั้นมีอยู่อย่างชุกชุม เพราะสภาพตัวน้ำตกนั้นยัง “บริสุทธิ์” อยู่มาก อาจเป็น เพราะในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ค่อยข้างอันตรายอยู่ใกล้กับชายแดน และสภาพหนทางที่ลำบากต้องใช้รถโฟร์วีลไดรฟ์เพียงสถานเดียว ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สนใจ เราเห็นปลาซิวใบไผ่ (Devario sp. cf. regina) ว่ายไปว่ายมาทวนกับกระแสน้ำ เมื่อเราช้อน เพื่อเก็บตัวอย่างปลาที่น้ำตก ก็พบว่า ซิวใบไผ่ที่พบในบริเวณนี้มีสีของลำตัวที่เขียวกว่าซิวใบไผ่ทั่วไป (Devario regina) ที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้แล้วซิวใบไผ่ที่พบที่นี่ยังมีครีบหลัง และครีบหางที่ดูเป็นสีส้มแดงด้วย แต่สำหรับจุด และเส้นต่างๆ บนลำตัวนั้นก็ไม่ได้มีความแตกต่างอะไร

นอกจากนี้แล้ว เรายังพบปลาค้อพม่า (Schistura balteata) ที่น้ำตกแห่งนี้ด้วย ปลาตัวนี้ ทำให้เราตื่นเต้น และดีใจมาก เพราะนับว่าเป็นรายงานแรก (new record) ของปลาชนิดนี้ว่าพบได้ในประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ พี่โน่ แห่งสยามเอ็นซิส ก็ได้ยืนยันว่าเขาเคยเห็นปลาชนิดนี้มาก่อนในน้ำตกบริเวณนี้ ซึ่งนั้นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ ทำให้เรามาราชบุรีในวันนี้ คำยืนยันของเขาได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงอย่างที่ว่าแล้ว

ระหว่างทางเดินออกจากน้ำตกกลับสู่กองร้อยฯ 137 ผมได้พูดคุยกับพี่ตำรวจอาทิตย์อย่างเป็นกันเอง และก็ได้ทราบว่าแถวนี้เคยเป็นเหมืองเก่ามาก่อน แต่ก็ได้ปล่อยทิ้งไว้รกร้างในปัจจุบัน ป่าแถวนี้ยังคงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ ทากหลายตัวที่ถีบตัวขึ้นมาบนเท้า และขาของพวกเรานับว่าเป็นตัวชี้วัดที่ดี เมื่อกลับมาก่อนที่จะขึ้นรถสิ่งที่เราต้องทำก็ คือ จัดการกับทากน้อยที่ติดแข้งติดขาของเราให้หมด ปล่อยให้มันอยู่ในป่าต่อไป พี่โทนี่ดูเหมือนว่าจะเลือดหวานเป็นที่นิยมชมชอบของทากดูดเลือดมากเป็นพิเศษ

เรากล่าวลาตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งมากด้วยมิตรจิตมิตรใจ ในขณะนั้นอากาศเย็นลงกว่าเดิม และท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้มแล้ว เราต้องรีบออกเดินทาง หนทาง 7 กิโลเมตรที่สมบุกสมบันยังรอเราอยู่เบื้องหน้า

เราสนุกสนาน และรู้จักกับชีวิตมากขึ้น อย่างน้อยมันย้ำเตือนให้เรารู้ว่าตัวเองนั้น คือใคร ชอบอะไร และเป็นอย่างใด

หนทางที่ยาวไกลที่สุดนั้น แท้จริงแล้วก็ คือก็ตัวเราเอง

 

ผู้ร่วมเดินทาง : อนุรัตน์ เตชะเวช (โทนี่), นณณ์ ผาณิตวงศ์, มาโนช เลิศชัยพร (โน่), และอาทิตย์ ประสาทกุล (กิ๊ก)

วันเดินทาง : วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2545 ออกเดินทาง 7.30 . ถึงกรุงเทพ 22.00 . (โดยประมาณ)

รถที่ใช้ : สยามเอ็นซิส โมบิล (Siamensis Mobile) ของคุณอนุรัตน์ เตชะเวช (โทนี่) เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อซึ่งเปี่ยมไปด้วยสมรรถนะในการบุกป่าฝ่าดง ในขณะเดียวกันมันก็ยังเป็นพาหนะที่เต็มไปด้วยพลังความเร็ว และความปลอดภัยบนพื้นเรียบเมื่อใช้วิ่งไปตามถนนหลวง ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

เครื่องมือที่ใช้จับปลา : อวนทับตลิ่ง สวิงตาถี่

ข้อมูลน้ำ:

ห้วยภโวทัย รีสอร์ต : pH 7.2 Conductivity 2.5

น้ำตกเก้าชั้น : pH 7.2 Conductivity 0

น้ำตกผาแดง : pH 7.2 Conductivity 0

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org