: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


 
 

เที่ยวพังงา

เรื่อง: พี่น๊อต

          งานนี้เราไม่มีภาพถ่าย ทิ้งไว้เพียงรอยเท้า เก็บมาทั้งความทรงจำ และนำมาศึกษา ขาไปแวะอช.ศรีพังงา ก็เจอ Cryptocoryne albida ที่ดูแปลกตา เพราะใบมีทั้งสีแดง เขียวกลางใบแดง ลายๆ นิดๆ แต่พอดูดอกก็หายสงสัย น้ำตกสวยมาก ว่างๆ จะแอ่วอีก พอออกจากที่นั่นก็มุ่งหน้าไปน้ำตกลำรู่(อช.เขาหลัก-ลำรู่) เพราะเป็นช่วงคนเที่ยวเยอะ ถ้าไปเขาหลักน่าจะจบเห่ ถึงน้ำตกก็ไม่ผิดหวังหลังจากคุยกับ จนท.ตั้งนานว่าเราจะพักที่นี่จนเขาต้องขี่รถหาคลื่น เพื่อติดต่อหัวหน้า จากที่ตั้งใจกางเต็นท์ก็ได้นอนบ้าบพักแทน เพราะช่วงนี้น้องฝนมักมาเยี่ยมเยือน

          หลังจากกิน คุยกับ จนท. จนถึง 4 ทุ่ม เขาก็ปิดเครื่องปั่นไฟ อ้อ..ระหว่างนั้นก็เดินดูรอบๆ บ้านพักก็เจอ unidentified gecko 1 ชนิด แล้วก็ไม่ได้จับ เพราะแขนสั้นกว่าแม่นาค จิ้งจกบ้านพบ 2 ชนิด โดยมีจิ้งจกบ้านเส้นหลังขาว/หางอ้วน(Gehyra mutilata) เป็นชนิดเด่น(ปกติจะเจอน้อยสุดใน 3 ตัวหลัก) และจิ้งจกบ้านหางหนาม (Hemidactylus frenatus) แล้วก็เจอตุ๊กแกบินชนิด (Ptycozoon kuhli) 1 ตัว กำลังเฝ้าไข่ที่ซอกเพดาน

          พอเริ่มออกตระเวณ บริเวณน้ำตกชั้นแรกก็พบตะพาบไทย (Amyda cartilarginea) ปลาตะเพียนน้ำตก อีกอง(T-barb) พลวง ซิวใบไผ่ ช่อนดำ(ไม่ แน่ใจว่าใช่กระสงหรือเปล่า แต่ลายดูแปลกๆ ) กระดี่ ฯลฯ(จำไม่หมด) ส่วนที่เป็นหินก็เจอบู่น้ำตก ค้ออะไรก็ไม่รู้(หมายถึงผมน่ะ) ลูกอ๊อดกบเขาสูง(ลืมชื่ออีกแล้ว) ลูกอ๊อดจงโคร่ง ชั้น 2 ไม่ได้แวะดู ชั้นที่ 3 ก็ได้กลิ่นของเม่นหางพวงหรือทางนี้เรียกว่า แกละ และเริ่มเห็นตัวกบชะง่อนหิน(Rana hosii) และกบเขาสูง จากชั้น 1-3 จะชันมาก แต่เดินง่าย พอชั้น 4 ก็เหมือนเดินตามห้วยธรรมดา ปลาที่เห็นก็เป็นกลุ่มตะเพียนเหมือนชั้นแรก แล้วเจอกบลายหิน(Amolops larutensis?) เพิ่มจาก ชั้น 2 ชั้น 5 เป็นน้ำตกจากที่สูงจากระดับพื้นอ้างอิง 10 กว่าเมตร เป็นสายน้ำกว้างๆ ตกจากด้านข้าง ก็เจอปลาเลียหิน อีก 1 ตัว สัตว์เลื้อยคลานไม่รู้ไปไหนหมด

          ขากลับก็เจอจงโคร่งตัวเขื่อง(ประมาณฝ่ามือ) กำลังจะถอดใจก็เหลือบเห็นอะไรยาวๆ ดำสลับขาวเลื้อยบนก้อนหิน ตัวนี้ผมให้เวลากับตัวเองนานมาก(ปกติ จับทันที) เพื่อพิจารณาว่าเป็นงูทับสมิงคลา(Bungarus candidus) เพราะคล้ายมาก ก็ดูที่เกล็ดสันหลัง ถ้าไม่เป็น 6 เหลี่ยม ก็ลุยได้ ปรากฎว่าเป็นงูปล้องฉนวน(Lycodon sp.) ชนิดนี้ผมเคยได้ที่ชุมพรเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้มันจากไปแล้วขณะที่ผมไปราชการ 1 สัปดาห์หลังจากเลี้ยงมาปีครึ่ง เลยไม่ได้เก็บตัวอย่าง งูชนิดนี้มีแนวโน้มเป็นชนิดใหม่สูงมาก อย่างน้อยจะเป็นรายงานแรกในไทย พังงา(ชุมพรไม่มีตัวอย่างเลยไม่รู้เอาอะไรเป็นหลักฐาน) เป็นงูที่เลียนแบบงูทับสมิงคลาได้แนบเนียน แม้ แต่พฤติกรรมการกิน เพราะมันชอบกินงู และอยู่พื้นที่เดียวกัน ถ้าหากมันเป็นชนิดใหม่จริง ผมอยากให้มันมีชื่อว่า (Lycodon ophiophagus) แปลว่างูปล้องฉนวนที่กินงู

          ส่วนวันอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้นแล้ว ก็ฝนมันตก ของฝากติดมือก็มีกล้วยไม้ป่า(อันนี้ขอแบ่งจากที่ขึ้นบริเวณที่ทำการอุทยาน และขอ จนท.ตรงๆ เลย) ได้เอื้องแผง(ใบม่วงแดง ดอกขาว) เขากวาง สิงโตอะไรก็ไม่รู้ (Dendrobium spp.) (2-3 ชนิด) ยี่โถปีนัง(ขอ จนท.) ไอยเรศใบเล็กปลายใบแหลมค่อนข้างแบนจาก อช.ศรีพังงา ที่จริงอยากเก็บเฟิร์นด้วย แต่กลัวโทรม เพราะไม่ได้วางแผนวันกลับที่แน่นอน ก็เลยรบกวนป่าน้อยลงไปอีกนิด อ้อ..ตลอดทางเจองูสิง (Ptyas korros) เลื้อยข้ามถนน 1 ตัวเอง ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน ที่จริงกะว่าจะแวะหาปลากัดด้วย เล็งไว้หลายที่ แต่พอเอาจริงๆ ไม่ได้แวะเลย บรรยากาศไม่ให้ เล่าแค่นี้ก่อนแล้วกัน จนท.อช.เหล่แล้ว

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org