: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :

 


บ่อน้ำสีฟ้าสดใส นี่แหละครับ Type locality ของ Betta simplex      

This turquoise blue pond in Krabi province of southern Thailand is type locality of Betta simplex.


โคนต้นอโศกน้ำที่มีผักลิ้นขึ้นอยู่

Cryptocoryne cordata is every where in this pond even on the stump root of this large tree (Saraca indica).


ต้นผักหนามก็มีขึ้นอยู่รอบๆ

Young leaf of this Lasia spinosa is eadible and taste pretty good, stir fry.


อีกมุมหนึ่งของบ่อ เดี๋ยวผมจะพาดำน้ำเล่นตรงนี้แล้วกันครับ

Another perspective of the pond. I will take you under water from this spot.


ปลาอีกอง กะ ปลาซิวข้างขวานเล็ก

Puntius lateristiga (t-barb) and Trigonostigma espei, (False Harlequin Rasbora)


ฝูงปลาอีกอง ว่ายไปว่ายมา เยอะแยะไปหมด สวยมากๆ ครับ

T-barbs are everywhere.  They are striking fish!


ฝูงปลาซิวข้างขวานเล็ก มองดีๆ จะเห็นปลาซิวสุมาตราด้วยครับ

A school of T. espei, look closely and you will find some Rasbora sumartrana as well. 


ปลาเยอะแยะไปหมดเลย เจ้าตัวใหญ่สุดตรงมุมล่างขวา คือปลาสร้อยหางแดง

Fishes, the biggest one at the lower right corner is Cyclocheilichthys apogon.


ขึ้นจากน้ำมาดูพรมต้นผักลิ้นบ้าง

Carpet of Cryptocoryne cordata


ใต้ใบของคริบชนิดนี้จะเป็นสีชมพูอมแดงๆ อย่างเนี๊ยครับ แต่ของที่พรุโต๊ะแดงสีเข้มกว่าลายชัดกว่าจมเลย

Under the leaf of C. cordata always have this pinkish red color. 


อีกมุมของบ่อที่มีรากอโศกน้ำสวยๆ เหมือนกัน

Another corner of the pond


ปลาอีกองกับปลาเข็มก็มี ตรงนี้อย่างกับในตู้แหน่ะ

T-barb and the Dermogenys pusillus (Half-beaked livebearer)


อีกฝากของบ่อเป็นบ้านของคุณยาย ในบ่อนี้ที่ผมเจอปลากัดทุ่งภาคใต้ครับ

Turn around and you will find this farm house with a little pond.  I caught a few Betta imbellis in there. 


ปลากัดทุ่งภาคใต้ตัวใหญ่หางสีแดง

B. imbellis


ปลาเสือดำตัวนี้สีเหมือนเศษไม้ที่มันอาศัยอยู่

This Nandus nebulosus have the same color as the debris he live around.


ปลาหัวตะกั่วตัวใหญ่หางสีฟ้า

A blue tail morph of the Aplocheilus panchax, the only species of Killifish found in Thailand.


วิวหลังบ้านคุณยายเป็นเทือกเขาหินปูนสวยงาม

Scenic of lime stone mountain behind the farm house.


หาตั้งนาน มาเจอเจ้าปลากัดกระบี่อยู่ในลำธารเล็กๆ จะแห้งแหล่มิแห้งแหล่แห่งนี้เอง

After 2 hours of hard working, I finally found B. simplex in this little stream which get the water from overflow of the pond. The water is not flowing anymore in this dry season, and there were so few water.  The plant in the picture is Eichhornia azurea.


ปลากัดกระบี่ตัวไม่เต็มวัย

A young B. simplex, I only caught 2 fish and decided to call it a day.  I didn't take any fish home.  I just want to see them in natural habitat.  The water pH was 7.4, KH of 6.0. See more pictures of B. simplex here.


กุ้งตัวเล็กๆ พวกนี้อยู่กับปลากัดกระบี่ น่าจะเป็นแหล่งอาหารสำคัญ

There were a lot of these little shrimp in the stream.  They must be major food source for the B. simplex.


ชาวบ้านท้องถิ่นมีการใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำแห่งนี้

Villagers used water from this pond.


ข้าวของกับหมวกใบโปรด

My gears and my favorite hat.

 

เยี่ยมบ้านปลากัดกระบี่

เรื่อง/ภาพ นณณ์ ผาณิตวงศ์

พักนี้ผมได้ไปเที่ยวบ่อยๆ จน เพื่อนๆ พากันอิจฉา แต่การเที่ยวมักจะเป็นการเที่ยวแบบเร่งรีบ คือได้ไป แต่ไม่มีเวลาเก็บรายละเอียดอะไรมากนัก บางทีกลับบ้านมานั่งนึกแล้วก็เสียดายว่าไม่ได้ทำโน้นทำนี่ บางทีไปรีบๆ โดยไม่รู้ว่าหมายจะเป็นยังไงบ้าง ก็นึกไม่ออกเหมือนกันครับว่าจะต้องทำอะไร

คราวนี้ก็อีกเช่นเคย จะไปธุระที่เกาะลันตา แต่มีเวลาว่างอยู่สัก 3 ชั่วโมงครึ่ง ให้เที่ยวเล่นแถวกระบี่ สำหรับคนชอบปลากัดอย่างผมแล้วจะมีที่ไหนที่น่าไปมากกว่าไปเยี่ยมเยียนเจ้าปลากัดกระบี่ (Betta simplex) ปลากัดอมไข่ที่สวยงามที่สุดของไทยในธรรมชาติหล่ะครับ สำหรับหมายแห่งนี้ถือเป็น “กล่องดวงใจ” ของเจ้าปลากัดกระบี่เลยก็ว่าได้ เพราะเป็น Type Locality หรือ จุดที่ผู้บรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานของปลาชนิดนี้เก็บตัวอย่างปลา เพื่อมาใช้เป็นตัวอย่างในการ บรรยาย ปลาจากแหล่งนี้จึงถือเป็นปลา “ต้นแบบ” ของปลากัดกระบี่ทั้งหลายทั้งปวง สมควร และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาเอาไว้ ดังนั้นผมจึงขอไม่บอกว่าหมายอยู่ตรงไหนนะครับ เพื่อนๆ คนไหนอยากไปจริงๆ ลองถามมาที่เว็บบอร์ดดีกว่าครับ แล้วจะพิจารณาตอบเป็นรายบุคคล เข้าใจกันนะครับ ข้อมูลบางอย่างเปิดเผยมากไปก็เป็นภัยกับปลาเหมือนกัน

ผมยืนงงๆ อยู่ที่สนามบินกระบี่ เวลามีน้อย เอาเป็นว่าในที่สุดผมก็หาแท็กซี่แถวสนามบินให้มาส่งผมที่หมายแห่งนี้จนได้ Type locality ของปลากัดกระบี่เป็นบ่อน้ำเล็กๆ 2 บ่อเส้นผ่าศูนย์กลางสักบ่อละ 50-60 เมตร อยู่ริมผาหินปูนขนาดใหญ่ ในแหล่งชุมชนเล็กๆ ที่มีถนนดินลูกรังเข้าถึง บ่อแห่งนี้เหมือนกับแหล่งน้ำซับขนาดใหญ่ คือน้ำผุดมาจากใต้ดิน ตัวบ่อมีความลึกมากเกินหยั่งถึง น้ำนั้นก็ใสปิ๊งเป็นสีฟ้าอ่อนๆ สวยเอามากๆ ที่ด้านหนึ่งของบ่อจะเป็นจุดที่น้ำไหลล้นออกไปเป็นลำธารเล็กๆ เรียบไปกับแนวเขา และถนนดินลูกรัง ในบ่อ และลำธารแห่งนี่แหละครับที่ปลากัดกระบี่อยู่กัน  ที่พิเศษอีกอย่าง คือต้น คริบใต้ใบแดงครับผม (Cryptocoryne cordata) ต้นเดียวกับที่ผมเจอที่พรุโต๊ะแดงแหละ แต่ของที่นี่ไม่ได้ขึ้นเป็นหย่อมๆ แต่เป็นพรมครับ ตรงไหนมีที่พอให้ขึ้น ผักลิ้น (ชื่อท้องถิ่นของต้นคริบ) ขึ้นเต็มไปหมด นีล จาคอบเซ่น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านต้นไม้กลุ่มนี้ก็มาเยือนบ่อแห่งนี้เมื่อหลายเดือนก่อน ลองดำน้ำดูแบบตัวเปล่าๆ ก็ยืนยันว่ามีขึ้นหนาแน่นไปตลอดจนถึงระยะสุดสายตาที่เค้าเห็นได้ใต้น้ำ อย่างน้อยๆ ก็ที่ความลึก 5-6 เมตร น่าเสียดายที่วันนี้บนใบผักลิ้นมีฝุ่นจับเขรอะไปหมดผมเลยไม่ได้เห็นความสวยงามที่แท้จริงของต้นไม้น้ำชนิดนี้ รอบบ่อยังมีต้นผักหนาม  (Lasia spinosa) ขึ้นอยู่หลายกอด้วยกัน ต้นไม้ชนิดนี้ยอดนำมารับประทานได้ ต้มจิ้มน้ำพริก หรือผัดไฟแดงก็กินดี และไม้ยืนต้นเด่นๆ ที่พบริมน้ำก็ คือต้นอโศกน้ำ (Saraca indica) ที่ออกดอกช่อเล็กๆ สีส้มอยู่ริมบ่อหลายต้นด้วยกัน  บางต้นมีส่วนรากงอกอยู่ในน้ำที่ใสแจ๋ว ไล่ระดับอย่างสวยงาม ดินที่ถูกกั้นอยู่โดยรากของต้นไม้ก็ไล่ระดับชั้นกันลงไป มีทั้งผักลิ้น เฟิร์นรากดำ (Microsorium sp.) และ สาหร่ายหางกระรอก (Hydrilla verticillata) ขึ้นอยู่ราวกับใครไปจัด แต่งไว้ ฝูงปลาทีบาร์บ (Puntius lateristiga) หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่าอีกอง ปลาในกลุ่มปลาตะเพียนขนาดเล็กที่พบเฉพาะทางภาคใต้ว่ายกันเป็นฝูงใหญ่ๆ สีสันในธรรมชาติเข้มชัดสวยงามกว่าปลาในที่เลี้ยงทั้งหมดที่ผมเคยเห็นมา ปลาซิวข้างขวานเล็ก (Trigonostigma espei) ปลาที่เพิ่งถูกเปลี่ยนชื่อสกุลจาก Rasbora ที่เป็นสกุลหลักของปลาซิวทั้งหลายมาเป็นชื่อสกุลใหม่ที่ยาวกว่าเดิมโดยแยกเอาเฉพาะญาติตัวเล็กแบนข้างอย่างซิวข้างขวานใหญ่  (T. heteromorpha) และ ปลาซิวสมพงษ์ (T. sompongsi)  ออกมาอยู่ในสกุลใหม่ ก็ว่ายกันอย่างร่าเริงในบ่อแห่งนี้ ปลาซิวสุมาตรา (Rasbora sumartrana) ปลาแสนจะโหลก็มีปะปนอยู่ในฝูงบ้าง ปลาสร้อยหางแดง (Cyclocheilichthys apogon) ตัวใหญ่ลอยตัวหัวทิ่มๆ อยู่ในส่วนที่ลึกลงไป ที่ผิวน้ำ ปลาเข็ม (Dermogenys pusillus) ตัวใหญ่หลายตัวว่ายไปว่ายมาให้สับสน ปลาหัวตะกั่ว (Aplocheilus panchax) ตัวใหญ่หางสีฟ้า ลอยตัวนิ่งๆ อยู่กลางน้ำ ผมอดที่จะชื่นชมความเทห์ของปลาชนิดนี่ไม่ได้

แต่ปลาที่ผมอยากเห็นที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากปลากัดกระบี่ แต่ก็เจ้ากรรมที่ปลาชนิดนี้คงไม่ออกมาว่ายให้เห็นตัวได้ง่ายๆ นักสำรวจปลาอย่างผมไม่มี “Luxurious”  อย่างหลายๆ ท่านที่ชอบดูนกหรือต้นไม้ ที่สามารถใช้กล่องส่องดูได้โดยไม่ต้องรบกวนพวกเค้าเลย  จะเปรียบเทียบกับกลุ่มที่สำรวจปลาน้ำเค็ม โดยเฉพาะตามแนวปะการัง พวกผมก็ไม่สามารถดำน้ำลงไปไล่แหวกสาหร่ายดูปลาน้ำจืดได้ง่ายๆ จากประสบการณ์อันน้อยนิดของผมในทะเล ปลาน้ำจืดตื่นคนกว่าปลาทะเลมาก ยิ่งตามแหล่งน้ำขุ่นๆ ตื้นๆ หรือตามน้ำตกที่น้ำไหลเชี่ยว และเย็น ก็ไม่ต้องคุยกันเลย การสำรวจของพวกผมโดยการใช้สวิงช้อนหรืออวนเล็กๆ อาจจะเป็นการรบกวนธรรมชาติบ้าง แต่ก็นับว่าน้อยมาก ถ้าเทียบกับการทำลายแหล่งน้ำด้วยขยะน้ำเสีย หรือการพัฒนา(โดยไม่คำนึงถึงธรรมชาติ) อื่นๆ หินก้อนที่ถูกเหยียบพลิก ก็จะกลายเป็นโพรงใหม่ให้ปลาให้กุ้งได้ซ่อนอีกมุมหนึ่ง สาหร่ายบางต้นที่ถูกสวิงเกี่ยวขาดถ้าเป็นสาหร่ายชนิดข้อ ก็จะไปงอกรากสร้างกลุ่มใหม่ของต้นได้ ถ้าเป็นพวกไม้ต้นอย่างพวกคริบพวกผมก็จะระวังเป็นพิเศษ อย่างในวันนี้ผมไม่ได้ไปยุ่งกับกอผักลิ้นเลย ผมเสียดาย การตายของปลาโดยอุปกรณ์เล็กๆ พวกนี้ก็นับว่าน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ปลาผมจับได้อย่างมากก็แค่เก็บเป็นตัวอย่างไม่กี่ตัว บางชนิดที่คิดว่าสามารถเพาะได้ในที่เลี้ยง หรือต้องการศึกษาพฤติกรรมอื่นๆ ผมก็เก็บมาเลี้ยงอย่างดีเท่าที่จำเป็น นอกนั้นปลาทั้งหมดผมถ่ายรูปแล้วปล่อยกลับลงไปในแหล่งเดิม ถ้าถือว่าเป็นการรบกวนก็เป็นการรบกวนที่จำเป็นต้องรบกวน และรบกวนอย่าง “เกรงใจ” เจ้าของบ้านมากๆ

คุณยายยืนมองผมอย่างงงๆ ชาวกรุงใส่หมวกลายสก็อต กระเป๋าสะพายสีฟ้ารุ่ยๆ สวิงหนึ่งอัน กับกล้องหนึ่งตัว มาทำอะไรแถวนี้  “ยายครับ ตรงไหนมีปลากัดที่ขอบหางมันสีฟ้าๆ ดำๆ ครับ?” ผมถาม “นู้น ในล่องน้ำข้างๆ บ้านยายนู้น ลุย (จำได้ป่าวครับ ภาษาใต้ ลุยแปลว่าเยอะ) ยายบอกพลางชี้มือไปอีกฝากถนน ล่องน้ำที่ยายชี้ไป ดูเหมือนล่องสวนเล็กๆ ตื้นๆ มีกอผักตบ และบัวขึ้นเป็นระยะๆ ผมค่อยๆ เดินช้อนไปเรื่อย แล้วก็ได้ตื่นเต้นเมื่อมีปลากัดตัวเล็กๆ ติดขึ้นมา ผมพิจารณาดูก็สรุปว่านี้เป็นลูกปลากัดลูกทุ่งภาคใต้ (Betta imbellis) ไม่ใช่ปลากัดกระบี่แน่ ผมช้อนไปเรื่อย เลื่อนไถลโคลนเลื่อนๆ ก้นจ้ำเบ้าไปหนึ่งที (พักนี้รู้สึกว่าตัวเองซุ่มซ่ามมาก) ผมได้ปลากัดทุ่งภาคใต้ ตัวผู้สวยๆ อีกตัว แล้วก็มาได้ปลาหัวตะกั่วตัวใหญ่ กับเจ้าปลาเสือดำ (Nandus nebulosus) ที่สีสันเหมือนกับเศษไม้ใบหญ้าที่ติดสวิงขึ้นมาด้วยอย่างน่าทึ่ง  ยังไม่มีวี่แววของปลากัดกระบี่เลย

คุณยายยืนมองผมอย่างงงๆ ทำไมผมถึงอยากเห็นปลากัดสีฟ้าขนาดนี้ ทำไมเมื่อวันก่อนก็มีฝรั่งมาจับปลากัดแถวนี้ เดือนที่แล้วก็มีญี่ปุ่นมาถามหาปลากัดตัวนี้ นานๆ ทีก็มีคนไทยมาไล่จับปลากัดจากแถวนี้ไปด้วย ยายบอกผมว่าจับกันไปเยอะมาก “ใส่ถุงพลาสติกไว้ ดำปึ๊ดไปเหม็ด”  ผมทอดถอนใจ Type locality เป็นหมายที่ต้องเปิดเผย ใครๆ ก็ตามมาจับเจ้าปลากัดกระบี่ หนึ่งในปลากัดที่มีถิ่นกระจายพันธุ์แคบที่สุดในโลกตัวนี้  เพราะที่นี่ไม่ใช่แหล่งอนุรักษ์ เป็นบึงสาธารณะใครๆ ก็มาจับได้ หรือว่าที่ผมจับไม่ได้เลย เพราะปลาโดนจับไปหมดแล้ว....หมด แล้ว.....  ผมเฝ้าพยายามอยู่เกือบชั่วโมง เพื่อจะพิสูจน์ว่าต้องยังเหลือสิ ขอดูสักตัวก็ยังดี ผมใจเสีย

พี่ผู้หญิงท้วมๆ ยืนมองผมอย่างงงๆ จู่ๆ มาหาปลากัดอะไรแถวนี้ “น้องมาหาปลากัดครีบสีฟ้าๆ เหรอ?  บ่อนี้ไม่มีหรอก ไปตรงลำธารนู้น เดินไปตามถนนนี่แล้วจะอยู่ซ้ายมือ”  ผมขอบคุณพี่เค้า แล้วก็เดินไปตามทางลูกรังแดงๆ เรียบริมเขาหินปูนไป ลำธารที่พี่เค้าว่า ผมว่าเป็นคูซ่ะมากกว่า ต้นแล้งอย่างนี้ ไม่มีน้ำไหลล้นจากบ่อมาให้ไหลแล้ว คูมีน้ำขังแห้งเป็นช่วงๆ ลึกอย่างมากก็แค่ท้วมตาตุ่ม มีต้นไม้น้ำชื่อวิทฯว่า Eichhornia azurea ขึ้นอยู่ประปราย ใบบกของไม้น้ำชนิดนี้ดูคล้ายๆ ใบผักตบชวา ดอกก็สีเหลืองๆ ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่ความสวยของต้น อิคฮอเนีย อยู่ที่ใบน้ำที่จะขึ้นเรียงชั้นกันเป็นพัดสวยงามมากๆ  

ผมยืนงงๆ อยู่ที่ริมคู ทำไมมันดูน่าสงสารขนาดนี้ จะมีปลากัดกระบี่อยู่ในนี่จริงๆ   เหรอเนี๊ย แต่ครั้งแรกที่ผมลองช้อนไปใต้รากต้นอิคฮอเนีย ผมก็ได้ปลากัดกระบี่ตัวเล็กๆ ขึ้นมาจริงๆ ผมสุดแสนจะดีใจที่ยังมีปลากัดกระบี่เหลืออยู่แถวนี้จริงๆ ผมเดินไปอีกหน่อยเจอแอ่งน้ำอีกแอ่ง ช้อนไป 2 ทีก็ได้ขึ้นมาอีกตัว พร้อมกับกุ้งตัวเล็กๆ เต็มไปหมด กุ้งพวกนี้คงจะเป็นอาหารของปลากัดในธรรมชาติ ผมถ่ายรูปทั้งกุ้งทั้งปลาแล้วก็ปล่อยพวกเค้ากลับลงไปในแอ่งน้ำเดิม ผมลองใช้เครื่องวัด pH มาวัดดูปรากฏว่าได้ตัวเลขที่ 7.4 วัดค่าความเหนี่ยวนำได้ 6.0 เกือบจะเท่ากับน้ำประปาที่บ้านผมเลย ไม่น่าแปลกใจที่ปลากัดกระบี่อาศัยอยู่ได้ดีในที่เลี้ยง และสามารถเพาะพันธุ์ได้ไม่ยากนัก น่ายินดีเป็นยิ่งนัก ตอนนี้ผมเพาะปลากัดกระบี่ที่บ้านได้ถึงรุ่น F2 แล้ว ยังได้จำนวนน้อย แต่ผมก็หวังว่าสักวันจะมีพอแบ่งปัน เพื่อนฝูงไปเลี้ยง ไปช่วยกันเพาะ เราจะได้ไม่ต้องรบกวนจับปลามาจากธรรมชาติอีก ดีไม่ดี ถ้าเพาะได้เยอะๆ เราจะเอาพวกเค้ามาปล่อยคืนถิ่นด้วย

พี่ผู้หญิงท้วมๆ มองผมงงๆ “น้องมาจับปลา แต่ไม่เห็นเอาปลากลับบ้านสักตัว?”  ผมไม่เอากลับไปหรอกพี่ ผมแค่อยากจะเห็นว่าพวกเค้าอยู่กันยังไงในธรรมชาติ ผมแค่อยากจะถ่ายรูปพวกเค้าไปให้คนอื่นๆ ได้ดูแค่นั้นเอง พี่บ้านอยู่แถวนี้ น้องผู้ชายคนนั้นด้วย ต้องช่วยกันดูแลปลากัดสีฟ้านี่หน่อยนะครับ อย่าให้ใครมาจับไปมากๆ ปลากัดนี่นอกจากในกระบี่ไม่มีที่ไหนอีกแล้วในโลกนะครับ ผมฝากด้วยนะครับพี่ 

พี่ผู้หญิงท้วมๆ ทำตาโต “ถึงว่าทำไมมีคนมาจับกันบ่อยจัง พี่ก็ไม่รู้ว่ามันหายาก พี่เกิดมามันก็มีอยู่เต็มไปหมด เดี๋ยวนี้น้อยลง แต่ก็พอมี ถึงว่า ถึงว่า ทั้งฝรั่งทั้งญี่ปุ่นทั้งไทย มาจับกันเรื่อย รู้อย่างนี้แล้ว ใครมาจับพี่จะได้ช่วยๆ กันดูหน่อย”

ผมฝากด้วยนะพี่ ผมคิดว่าจะช่วยอะไรได้อีก ผมทำแน่ ว่า แต่ว่าแถวนี้เค้าเรียกไอ้ต้นใบสีแดงๆ ในน้ำว่าอะไรครับ?  “ไหน อ้อ ผักลิ้น เนี๊ย แต่ก่อนมีคนมารับซื้อต้นละ 75 สตางค์ พวกพี่ถอนขายกันเกลี้ยงบ่อ ตอนหลังเค้าก็เลิกมาซื้อ โชคดีที่พอเลิกถอนมันก็งอกกลับมาใหม่เหมือนเดิม”  .....ผมอึ้ง.... ดีนะครับที่มันงอกกลับมา “ตอนนั้นพี่ถอนก็เสียดายมันนะ เห็นกันมาตั้ง แต่เด็ก โชคดีจริงๆ ที่งอกกลับมาเหมือนเดิม” 

อีกไม่นานก็จะถึงเวลานัดแล้ว ข้าวเที่ยงก็ไม่ได้กิน น้ำก็ไม่ได้ตกถึงคออันแห้งผากสักหยด ถึงแม้อยากจะอยู่ปั้นรูปปลาใต้น้ำให้มันชัดๆ แต่ผมก็ทำไม่ได้ ผมลายาย ลาพี่ ลาน้อง “ฝากปลากัดด้วยนะครับ อย่าให้ใครมาจับมันไปหมดนะครับ ผมต้องกลับแล้ว สวัสดีครับ“

 

"ฝากปลากัดด้วยนะครับ...”

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org