: Home : Board : Articles : Expeditions : About us : Privacy Policy :
 

 

บรรยากาศที่เขาหินปูนในวัดยามเที่ยงคืน

คางคกบ้าน (Bufo melanostictus) ตัวนี้แหละครับที่ ทำให้ตกใจ

จิ้งจกหินสยาม (Gehyra sp. siamensis) หลบอยู่ในซอกหิน

ลูกจิ้งจกหินสยาม

ตุ๊กแกสยาม (Gekko siamensis) ขออภัยถ่ายได้มาแค่เนี๊ยครับ คงต้องไปสอบซ่อม แหะ แหะ

จิ้งจกดินแถบดำ (Dixonius melanostictus) เจ้าเนี๊ยดๆ ของผมหล่ะครับ ตัวเล็กน่ารักมากเลย

จิ้งจกดินแถบดำ จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานเฉพาะถิ่นของแถบเขาหินปูนภาคกลาง และเป็นสัตว์คุ้มครองด้วยครับ

ตุ๊กแกป่าสยาม (Cyrtodactyrus sp. siamensis)

ตุ๊กแกป่าสยาม อีกมุม

ตุ๊กแกป่าจะมีลักษณะเท้าเป็นเล็บ และมีนิ้วยาวเหมือนที่เห็นในภาพนี้ ตุ๊กแกป่าในสกุลนี้จะไม่สามารถเกาะกระจกได้เหมือนกับพวกตุ๊กแกในสกุล Gekko ครับ

ภาพเบื้องหลังการถ่ายภาพตุ๊กแกป่า

กิ้งกือตัวใหญ่มาก

ตะขาบถ้ำ

แมงมุมถ้ำ โปรดสังเกตว่าแมลงถ้ำจะมีหนวดหรืออวัยวะอื่นๆ ยาวยื่นกว่าพวกที่อาศัยอยู่นอกถ้ำ สัตว์พวกนี้ใช้อวัยวะเหล่านี้ในการสัมผัส เพื่อรับรู้ถึงโลกภายนอก ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงน้อย หรือไม่มีเลย

จิ้งหรีดถ้ำ หนวดยาวมากกกกกกกก

อึ่งอ่างธรรมด๊าธรรมดา (Kaloula pulchra)

บรรยากาศยามตีหนึ่งที่สถานีรถไฟลพบุรี

หนูผีบ้าน (Crocidura murina) ที่ดักได้ กลิ่นฉุนกึกจากต่อมข้างลำตัว โชยมาเป็นระยะๆ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นวัดร้างขนาดใหญ่ใจกลางเมืองลพบุรี ได้รับการซ่อมแซม และบูรณหลายครั้งตั้ง แต่สมัยพุทธศตวรรณที่ 18 ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมช่วงก่อน และหลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

พระปรางค์สามยอด

ผมโดนลิงแกล้งเขย่าขาตั้งกล้อง

ปีนเขาที่วัดพระพุทธบาท เพื่อถ่ายรูปโมกราชินี

วิวอันงดงามบนเทือกเขา

โมกราชินี (Wrightia sirikitiae) พันธุ์ไม้ประจำถิ่นที่เพิ่งค้นพบใหม่ของประเทศไทย

บรรยากาศภายในถ้ำเขาหินปูน แสงสีขาว และฟ้าเป็นแสงจากหลอดไฟครับ

โรงงานย่อยหินซึ่งเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ริมถนนมิตรภาพ

กะบึ้ม!!!!! ถึงแม้จะเป็นแหล่งที่มีความสำคัญทางการกระจายพันธุ์ของพืช และสัตว์ท้องถิ่นหลายชนิด แต่เขาหินปูนก็ยังถูกทำลายทุกวัน โดยไม่ได้รับการคุ้มครอง

อุโมงค์ต้นไม้แถวอำเภอมวกเหล็ก

ลำธารเล็กๆ สายนี้ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำป่าสัก น่าเสียดายที่น้ำเริ่มขุ่นซ่ะแล้ว เลยไม่ได้เห็นปลาอะไรเลย

คอกม้าริมถนน สวยจัง

บรรยากาศริมบ่อที่หนองแค

ปลากัดทุ่งภาคกลาง (Betta splendens) แห่งหนองแค

ค้างคางแม่ไก่ภาคกลาง (Pteropus lylei) เป็นค้างคาวกินผลไม้ขนาดใหญ่ที่มักเกาะนอนกันเป็นฝูงใหญ่

นกมีหู หนูมีปีก

 

 

สระบุรี ยี่สิบสี่ชั่วโมง

เรื่อง: นณณ์เขียน(ตรงที่ไร้สาระ), แนนเติม(ตรงที่ไร้สาระเช่นกัน), พี่น๊อต(ตรงที่มีสาระ)

ภาพ: นณณ์, กุ๋ย และแนน(ตากล้องสมทบ)

แล้วเรื่องนี้ก็เริ่มที่เว็บบอร์ดของเว็บไซด์สยามเอ็นสิสอีกครั้ง เมื่อพี่น๊อตได้มาตั้งกระทู้เกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานเฉพาะถิ่นที่พบบริเวณเทือกเขาหินปูนในเขตจังหวัดสระบุรี และลพบุรี ใจความในกระทู้กล่าวถึงการค้นพบสัตว์เลื้อยคลานชนิดใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ถึงสองชนิด และสัตว์เลื้อยคลานที่พบเฉพาะถิ่นในบริเวณดังกล่าวอีกหลายชนิด เทือกเขาในเขตนี้แทบจะเรียกได้ว่าอยู่ใจกลางของประเทศไทยซึ่งไม่มีเขตติดต่อกับประเทศ เพื่อนบ้านเลย ทำให้สัตว์ และพืชหลายชนิดที่พบกระจายพันธุ์อยู่ในแถบนี้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นที่ไม่สามารถพบได้ที่อื่นอีกแล้วในโลก ซึ่งสัตว์ และพืชพวกนี้รวมไปถึง จิ้งจกดินข้างดำ และตุ๊กแกป่าในสกุลCyrtodactylus ซึ่งมีสถานะภาพเป็นสัตว์คุ้มครองของประเทศไทย นกจู๋เต้นเขาหินปูนพันธุ์สระบุรี นกเฉพาะถิ่นที่อาศัยอยู่เฉพาะบนเทือกเขาหินปูนในแถบนี้เท่านั้นก็ถือเป็นสัตว์คุ้มครอง นอกจากนั้นยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกสองชนิดซึ่งถือเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของไทย คือหนูขนเสี้ยนเขาหินปูน และหนูถ้ำ(สัตว์คุ้มครองเช่นกัน) ต้นไม้อย่างโมกราชินี และต้นบุกอีกหลายชนิดก็มีการกระจายพันธุ์เฉพาะในแถบนี้

แต่เขาหินปูนในเขตจังหวัดสระบุรี และลพบุรีกลับได้รับการคุ้มครองน้อยมาก แถมยังถูกใช้ประโยชน์โดยเฉพาะการระเบิดหิน เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และในการก่อสร้างอย่างมาก ซึ่งการระเบิดเขาถือเป็นการทำลายถิ่นอาศัยของพืช และสัตว์เฉพาะถิ่นอย่างฐาวร แถมการรบกวนจากการใช้ประโยชน์จากถ้ำหลายแห่งทั้งในด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาเป็นวัดก็ถือเป็นการเพิ่มเติมกิจกรรมของมนุษย์เข้าไปในแหล่งอาศัยของสัตว์ซึ่งบางชนิดอาจจะปรับตัวร่วมอยู่ได้ แต่อีกหลายชนิดก็ต้องหลบลี้หนีหายเข้าไปในถิ่นอาศัยที่ไม่ถูกรบกวนซึ่งเหลือน้อยลงทุกวัน

เราคุยกันว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะช่วยรักษาเทือกเขาหินปูนในแถบนี้ไว้ ถึงแม้ว่าสัตว์ และพืชเหล่านี้จะไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่ก็คงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายถ้าจะปล่อยให้สูญพันธุ์ไปกับการพัฒนาของมนุษย์ ในเมื่อการพัฒนาก็ยังจะเกิดขึ้นต่อไปพร้อมๆ กับการทำลายเขาหินปูนซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพืช และสัตว์ การเดินทางครั้งนี้ และอีกหลายๆ ครั้งต่อไป เพื่อเก็บข้อมูลว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อจะอนุรักษ์สัตว์พืช และเขาหินปูนในแถบนี้ไว้จึงเกิดขึ้น

จะว่าไปแล้วข้อมูลที่นำมาเผยแพร่ในเว็บแห่งนี้ก็ถือเป็นดาบสองคม เพราะสัตว์หายาก และแหล่งอาศัยของพวกเค้าซึ่งโดยทั่วไปจะรู้กัน แต่เฉพาะในแวดวงวิชาการจะถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณะชนในวงกว้าง ซึ่งผมเชื่อว่าสำหรับผู้อ่านส่วนใหญ่บทความ,รูปถ่าย และข้อมูลเหล่านี้จะเป็นการช่วยให้ความรู้ และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สัตว์,พืช และพื้นที่เหล่านี้ด้วยกัน (เหมือนเวลาที่ผมได้อ่านบทความของนักอนุรักษ์ท่านอื่นๆ ) แต่ในเมื่อเว็บแห่งนี้เป็นที่สาธารณะนักค้าสัตว์ป่าก็สามารถเข้ามาดูได้เช่นกัน ซึ่งถ้าท่านอ่านอยู่ ผมใคร่ขอร้อง และวิงวอนว่าอย่าถือโอกาสใช้ข้อมูลเหล่านี้ฉกฉวยทรัพยากรอันทรงคุณค่าซึ่งเป็นของคนไทยทั้งชาติไปใช้อย่างฉาบฉวยเลยครับ ผมไม่ได้ต่อต้านการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ที่ถิ่นอาศัยถูกคุกคามอย่างรุนแรง แต่การนำไปเลี้ยงควรจะเป็นการนำไป เพื่อการศึกษา และเพาะพันธุ์ ไม่ใช่จับไปเป็นจำนวนมาก เพื่อไปขายสู่ตลาดมืด ผมขอร้องหล่ะครับ

“รีบออกเหอะ สักสามสี่โมง จะได้ดูก่อนว่าสถานที่เป็นยังไง ไปถึงมืดๆ น่ากลัวนะ” ผมบอกกุ๋ยในเย็นวันพฤหัส

สองทุ่มครึ่งวันศุกร์ ผมยังนั่งรอเจ้ากุ๋ยอยู่ที่บ้าน กว่าเราจะได้ออกเดินทางก็เกือบสามทุ่ม ที่หมายของเรา คือถ้ำเขาหินปูนในเขตจังหวัดสระบุรี สถานที่ๆ มีสัตว์ และพืชเฉพาะถิ่นหลายชนิด

ก่อนหน้านี้ พี่น๊อตได้มาตั้งกระทู้ไว้ที่ siamensis.org กล่าวถึงจิ้งจก และตุ๊กแกชนิดแปลกๆ ที่พบอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวจน ทำให้ผมสนใจอยากจะไปดู ประจวบเหมาะกับที่ผมก็อยากไปแถวนั้นอยู่แล้ว เพราะข่าวคราวจากพี่หมีถึงการพบ ปลาสนาก และปลากาแดง ปลาไทยสุดเทห์สองตัวในลำธารบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้นจากการค้นหาข้อมูลผมยังพบอีกว่าเขาหินปูนในเขตจังหวัดสระบุรี และลพบุรียังเป็นถิ่นอาศัยของหนูขนเสี้ยนเขาหินปูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหนึ่งในแปดชนิดที่พบประจำถิ่นเฉพาะในประเทศไทย แถมยังมีนกจู๋เต้นเขาหินปูนพันธุ์สระบุรี และโมกราชินีพันธุ์ไม้ที่เพิ่งค้นพบใหม่ในบริเวณดังกล่าวด้วย ผมเที่ยวชักชวนคนนู้นคนนี้ให้ไปสำรวจด้วยกัน แต่ในที่สุดแล้วก็เหลือ แต่ผม และกุ๋ยกับแนน ( เพื่อนร่วมงานของกุ๋ย ที่ขอติดตามมาด้วย)เท่านั้นที่พลาดพลั้งตอบตกลง

“เอ็งจะไปคนเดียวเนี๊ยนะ?  เออ ไปด้วยก็ได้ว่ะ อยากเห็นเหมือนกัน” กุ๋ยตอบแบบง่าย ผมนึกในใจว่าไอ้นี่มันบ้ากว่าตูอีกเว้ย เพราะบ้านกุ๋ยอยู่ชลบุรี จะไปกับผมก็ต้องเดินทางไกลกว่ากันเยอะ

แผนที่อยู่ในมือ แต่จะหาสถานที่ให้เจออยู่ที่ปาก สี่ทุ่มกว่าๆ แล้วเราแวะเข้าปั๊ม เพื่อถามทางไปวัดที่พี่น๊อตบอกมา (ขอสงวนนามวัด เพื่อความปลอดภัยในอิสรภาพ และชีวิตของสัตว์) ผมขับไปเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าเลยแล้วแหง่มๆ จึงจอดแวะปั๊มถามทางอีกครั้ง เรากลับรถแล้วก็กลับรถ แต่ก็ยังไม่พบวัด เราวนมาจนถึงปั๊มเดิมอีกครั้งกลับรถแล้วก็กลับรถ คราวนี้ผมขับช้าแทบคลาน เราถึงพบป้ายวัดเล็กๆ “นั่นไงๆ ”

“มีพวกดูนกแล้ว จะมีพวกเราดูปลาดูสัตว์เลื้อยคลานบ้างจะเป็นไรเน๊อะ” ผมพูด

“เออ ก่อนออกมาน้องที่บริษัทยังถามว่าจะมาทำอะไรที่สระบุรี พอผมบอกว่าจะมาดูหนู ดูนก ดูตุ๊กแก และจิ้งจก น้องมันก็บอกให้ไปดูหลังส้วมที่บ้านมันก็มีเยอะแยะ ไม่เห็นต้องไปให้ไกลเลยเพ่ กุ๋ยพูดขึ้น ผมหัวเราะแทบกลิ้ง แต่ยังรักษาจริต เพราะต้องขับรถ

“เออ วันก่อนเห็นพวกดูนกกลุ่มใหญ่ที่ป่าแถวบ้าน เลยลองเดินตามไปดู พอดีมีนกตัวเล็กๆ ตัวนึงกระโดดย๊องๆ อยู่บนถนนแล้วก็พรุบเข้าป่าไป พวกดูนกยืนตะลึงดูกันเงียบกริบ พอนกหายไป ก็กระโดดโล้ดเต้นร้อง เยส เยส ดีใจกันใหญ่ แปลกดีหว่ะ” กุ๋ยพูดต่อ

“เออ เวลาเจอปลาเจ๋งๆ ก็อย่างนั้นเหมือนกัน” ผมบอก

ไฟจากหน้ารถ ทำให้พวกเราเห็นเขาหินปูนตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ผมลงจากรถคว้าอุปกรณ์ถ่ายรูป และไฟฉาย ค่อยๆ กราดไฟไปรอบๆ ตัว เพื่อสังเกตการณ์ ด้านหน้า คือเขาหินปูนที่มีเหลือบหิน และถ้ำหลายแห่ง ด้านขวามือ คือกุฎิวัด สองสามหลัง ด้านหลัง คือลานโล่งที่มีต้นไม้ขึ้นเป็นหย่อมๆ ด้านซ้ายมือมืดๆ โล่งๆ ผมมองไม่เห็นอะไร ได้ยิน แต่เสียง ครึกๆ ๆ ๆ ๆ แว่วมาไกลๆ ซึ่งผมเข้าใจว่ามาจากโรงโม่หิน  ริมเขาหินปูนด้านขวามือเป็นศาลหรือศาลาอะไรสักอย่างหลังสีขาวๆ ด้านหน้ามีม้านั่งไม้เก่าๆ ตั้งอยู่ ด้านหน้าของผมเป็นถ้ำเล็กๆ มองเข้าไปมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่หนึ่งองค์ด้านซ้ายเป็นอีกถ้ำที่ใหญ่กว่า ถัดไปเป็นเนินเขาที่มีเจดีย์เล็กๆ หลายองค์

เป็นบรรยากาศที่น่ากลัวมากๆ มืดๆ และนี่ คือในวัด พี่น๊อตยังขู่ไว้อีกถึงงูจงอางซึ่งพบได้แถวนี้ รวมไปถึงงูเหลือมที่อาจจะทิ้งตัวลงมารัดเราไปกินเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ผมคุกเข่าลงกับพื้นดินข้างรถกราบเบญจาคประดิษฐ์งามๆ สามทีอธิฐานในใจ “พวกเรามาดีครับ อยากจะเห็นอยากจะถ่ายรูปจิ้งจก ตุ๊กแก ที่อยู่บริเวณนี้ เพื่อนำรูปไปใช้ในการให้ความรู้ และ เพื่องานอนุรักษ์ ขออภัยที่มารบกวนครับ” ผมเชื่อในเรื่องแบบนี้ และผมมีความมั่นใจว่าถ้าผมเจตนาดีผมไม่ต้องกลัวอะไร แต่ก็นะมืดๆ ในวัด และสถานที่แปลกๆ ที่ผมไม่คุ้นเคย ยังไงผมก็กลัว แต่นอกจากความกลัวแล้วผมกลับมีความมั่นใจอย่างประหลาดว่าผมจะได้พบสัตว์ที่ผมมาตามหา เพื่อนร่วมทางอีกสองคนก็ ทำให้ผมอุ่นใจไปมาก ถึงแม้ว่าน้องแนนจะ ทำให้ผมกังวล ขนาดผมยังกล้าๆ กลัวๆ แล้วผู้หญิงจะกล้าเหรอเนี๊ย? ผมแอบนึกในใจ

สัตว์ชนิดแรกที่เราพบ คือหอยทาก เปลือกแบนๆ สีน้ำตาลอ่อนๆ คลานกันอยู่หลายตัว บางตัวอยู่บนเขาหินปูน  บางตัวก็ลงมาหากินอยู่กับพื้น กิ้งกือตัวใหญ่คลานอยู่หน้าปากถ้ำ ไฟฉายสามกระบอกสาดส่องไปมา เพื่อจะหาสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจ ที่หน้าปากถ้ำ ผมหยุดส่องไฟขึ้นไปด้านบน ทั้งผนัง และบริเวณรอบๆ ปากถ้ำ งูเหลือมมักจะดักเหยื่ออยู่ในบริเวณนี้ เมื่อพบว่าหนทางปรอดโปร่ง เราจึงค่อยๆ เดินหน้าต่อไป

ในถ้ำเล็กๆ ที่มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ผมคุกเข่าลงกราบ และอธิฐานเหมือนเดิมอีกครั้ง จริงๆ แล้วจะเรียกว่าอธิฐานก็คงไม่ถูกนัก ผมไม่ได้ต้องการวิงวอนขออะไร ผมบอกกล่าว ผมกราบเรียน ผมแค่รู้ว่าทำแล้วผมสบายใจ ผมเป็นคนที่ไม่กลัว “พลังงานลักษณะพิเศษที่ไม่สามารถอธิบายได้” ผมไม่เคยเจอ และผมก็ไม่ได้อยากเจอ ว่ากันว่าเฉพาะคนที่จิดอ่อนเท่านั้นถึงจะเห็น นั่นแสดงว่าผมคงมีจิตหยาบกระด้างกระมัง คิดไปอีกแง่ สงสัยผมจะเป็นคนดี แหะ แหะ

กร๊อบ! ผมตกใจรีบชักเท้าออก ในเวลาที่จิตใจไม่ค่อยอยู่กะเนื้อกะตัวแบบนี้ เสียงแปลกๆ สักนิดก็ทำเอาผมสะดุ้งโหย่งแล้ว เหยียบหอยทากตายป่าวว่ะตู ผมนึกในใจ แล้วก็โล่งอกเมื่อพบว่าเป็นกิ่งไม้แห้ง “พี่ ๆ จิ้งจกๆ ” แนนร้องทักพร้อมส่องไฟค้างไว้ที่จิ้งจกตัวนั้น“เฮ้ยนณณ์ จิ้งจกๆ ” เสียงจากกุ๋ย ร้องเรียกให้ผมไปถ่ายรูป ผมหันไปพบกับจิ้งจกหน้าตาคุ้นเคยเกาะอยู่บนผนังหินปูน “เหมือนจิ้งจกบ้านหว่ะ” ผมบอกกุ๋ย แต่ก็ปีนหินตามขึ้นไปถ่ายรูปไว้ก่อน แชะแรกมืดไป แชะสองสว่างไป แชะสามจิ้งจกหนีเข้าซอกหิน ผมปรับความไวแสงที่กล้อง ปรับค่าแฟรช ค่อยๆ ส่องเข้าไปในซอกหิน แชะนี้ออกมาพอดูได้ ก่อนที่จิ้งจกจะหนีเข้าไปในซอกที่ลึกกว่าเดิมจนพ้นสายตาไป “ลีลาเยอะ แต่งตัวนานเหลือเกินนะ” กุ๋ยแซว มันไม่ได้ง่ายนะเว้ย ถ่ายแมคโครกลางคืนด้วยกล้องดิจิตอลสติปัญญาปานกลางเนี๊ย (ภายหลังเราพบว่าจิ้งจกบ้านของผมตัวนี้ คือว่าที่จิ้งจกหินสยาม จิ้งจกหินชนิดที่เพิ่งค้นพบใหม่ล่าสุดของโลก ประเทศไทย และ เขาหินปูนแห่งจังหวัดสระบุรี หุ หุ หุ เกือบไปๆ โชคดีที่ถ่ายไว้)

“พี่ๆ มีคนมา” แนนบอกผมกับกุ๋ยที่ก้มหน้าก้มตาส่องหาจิ้งจกตุ๊กแกกันอยู่ “อือ เห็นแล้ว” กุ๋ยบอก ผมหันหลังกลับไปส่องไฟฉายไปด้านหลัง พี่ผู้ชายคนนึงเดินมาทางเรา “มาทำอะไรกันครับ” คนแปลกหน้าสามคนด้อมๆ มองๆ ยามวิกาล น่าสงสัยในทุกลีลา “มาหาดูสัตว์ถ้ำหน่ะครับ พวกจิ้งจกตุ๊กแก” ผมตอบ พี่ผู้ชายคนเห็นเราหน้าตาไม่น่าสงสัย เลยบอกให้พวกเราลองเข้าไปดูในถ้ำ ก่อนจะเดินจากไป

“ตุ๊กแกๆ ” “เออๆ นั่นไง” เสียงมาจากกุ๋ย และแนนรับกันเป็นลูกคู่ ผมรีบตามไปดู แต่ตุ๊กแกเจ้ากรรมก็หลบเข้าไปในซอกหินซ่ะแล้ว “หูยเมื่อกี้เกาะโล่งๆ เลย โคตรสวย” กุ๋ยโม้ ซอกหินเล็กมากจนผมเห็น แต่ส่วนขาหลัง และโคนหางตุ๊กแก เป็นตุ๊กแกตัวขนาดกลาง เล็กกว่าตุ๊กแกบ้านตัวโตที่ผมเคยเห็น ตุ๊กแกตัวนี้ตัวลายๆ สีน้ำตาลเทา จุดๆ คุ้นเคยเหมือนตุ๊กแกบ้าน แต่สีทึมๆ กว่า ตุ๊กแกบ้านคงไม่มาอยู่ในที่แบบนี้ ผมนึกไปถึงตุ๊กแกสยาม สัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทยที่พี่น๊อตเล่าให้ฟังว่าพบอยู่ในบริเวณนี้ ผมพยายามจะถ่ายภาพ แต่ระบบโฟกัสของกล้องก็ทำงานอย่างยากลำบาก เพราะแสงน้อย และจุดที่จะให้โฟกัสอยู่ในซอกเล็กๆ ติ๊ดๆ ๆ ๆ ๆ ๆ เสียงกล้องร้องบอกตำแหน่งโฟกัสที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในที่สุดผมก็คิดว่าใช่ แชะ แชะ ได้มา แต่ขากับก้นแล้วตุ๊กแกก็ตัดรำคาญด้วยการเขยิบเข้าไปลึกกว่าเดิม

ในถ้ำแห่งนั้น เราพบแมงมุมถ้ำหน้าตาประหลาด และตะขาบขายาวแปลกตา เมื่อเราออกมาจากถ้ำ ผมค่อยๆ ส่องไฟไปตามดินริมเขา เพื่อจะหาจิ้งจกดินแถบดำ แล้วจู่ๆ คางคกบ้านตัวใหญ่ก็กระโดดออกมาจากซอกหิน ผมสะดุ้งเฮือก เมื่อมองออกว่าเป็นตัวอะไรก็โล่งใจ นึกทุเรศ และขำตัวเองไปด้วย

ผมส่องไฟไปรอบๆ ตัวเป็นระยะๆ เพื่อความอุ่นใจ

อีกสักพักใหญ่ในความมืด และเสียงกรึ๊กๆ ๆ ๆ ๆ “นั่นไงๆ ตุ๊กแก” เสียงมาจากกุ๋ยอีกครั้ง ผมรีบเดินตามไป กุ๋ยฉายไฟไปที่ซอกหินด้านบน “ไหนว่ะ?” ผมหาไม่เจอ “นั่นไง เกาะอยู่นั่น กลางไฟเลย” “ไหนว่ะ?” ผมยังหาไม่เจอ ตอนกลางคืนตาผมถั่วๆ อย่างนี้แหละครับ “ไหนว่ะ?” ผมมาเห็นก็ตอนที่ตุ๊กแกขยับตัว เพื่อจะหลบเข้าไปในซอก ผมเริ่มหงุดหงิดที่ตัวเองยังไม่เจอตัวอะไรเป็นเรื่องเป็นราวเสียที

ที่ถ้ำใหญ่ ด้านหน้ามีศาลาเรือนไม้เก่าหลังเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยหยากไย่ จากขนาดเรือนหลังนี้ น่าจะเคยเป็นที่พักของสงฆ์ ที่อาศัยอยู่คนเดียว แต่บัดนี้เป็นเรือนร้าง ที่นอกชานด้านหน้ามีโซฟา เบาะนั่งสีแดง เก่าๆ เรียงกันอยู่  ส่วนข้างๆ เรือนไม้หลังนี้ จะมีช่องไม้ห่างๆ อยู่ด้านล่าง 2-3 ช่อง พอที่จะสามารถมองเห็นอะไร ๆ ที่ ทำให้เราจินตนาการได้สารพัด  ข้างๆ มีโรงสังกะสีเล็กๆ ผุๆ ส่องๆ ดูน่าจะเคยเป็นห้องน้ำมาก่อน บรรยากาศเริ่มหน้ากลัวอีกครั้ง ผมฉายไฟไปทางนั้นส่องกราดไปรอบๆ เมื่อไม่พบความผิดปกติอะไรผมก็เริ่มส่องไฟหาสัตว์ต่อไป

พระพุทธรูปอีกองค์ประดิษฐานอยู่หน้าถ้ำ ผมคุกเข่ากราบอีกครั้ง แล้วเดินต่อ ส่องไฟกลับไปมองที่ศาลาหลังเดิม รู้สึกเสียวๆ สันหลัง ผมไม่ชอบหันหลังให้กับอะไรที่ผมกลัว ถ้ำใหญ่มีประดูเลื่อนแง้มๆ อยู่ พวกเราตัดสินใจว่าน่ากลัวเกินไปที่จะเข้าไปดูเลยเดินเรียบเขาต่อไปที่เนินเขาเล็กๆ ที่ผมเห็นมีสถูปเจดีย์อยู่หลายองค์

จิตใจจดจ่อกับการหาจิ้งจกตุ๊กแก และหนู ผมค่อยๆ เดินขึ้นไปตามบันไดอิฐมอญเล็กๆ ส่องไปตามพื้นดิน ไหแตกๆ มีวางอยู่ทั่วไป ผมค่อยๆ เดินสูงขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงชั้นสาม มองไปอีกที เห็นกุ๋ยยังอยู่ด้านล่าง ส่วนแนนตามมาห่างๆ ผมส่องไฟไปมา “เฮ๊ย!! นณณ์ ลงมาเหอะ อย่าขึ้นไปเลย ผมไม่ขึ้นไปน่ะ” กุ๋ยบอก แนนก็เดินกลับลงไปแล้ว “เฮ้ยมีทางขึ้นสบายๆ เลยไปเหอะ” ผมตะโกนบอก แต่สองคนส่ายหน้า ผมเลยเดินกลับลงไป กุ๋ยกำลังถ่ายภาพกิ้งกือยักษ์อยู่ ตัวใหญ่มากๆ ใหญ่ที่สุดที่ผมเคยเห็นมา

ผมส่องไฟไปรอบๆ ตัวเป็นระยะๆ เพื่อความอุ่นใจ

แซ่บๆ ๆ !!!! “....”!!    ผมสะดุ้งอีกครั้ง เสียงดังมาจากด้านข้างศาลาเรือนไม้เก่าหลังนั้น เราสามคนค่อยๆ อ้อมไปด้านหลัง ซึ่งมีซากศาลพระภูมิกองอยู่หลายศาล ผมชะงัก ยกมือไหว้ รวบรวมความกล้า ส่องไฟกราดไปตามพื้นหาเจ้าของเสียงซึ่งในที่สุดผมก็พบว่าเป็นอึ่งอ่างตัวเล็กๆ สามตัวเกาะอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณที่มีธูปปักอยู่มากมาย ผมยกมือไหว้อีกครั้ง ถ่ายรูปอึ่งอ่างแล้วถอยออกมา ไม่วายหันไปส่องทางศาลาเรือนไม้เก่าหลังนั้นที่เต็มไปด้วยหยากไย่ รู้สึกเสียวสันหลังวาบอีกครั้งเมื่อหันหลังให้

“นั่นๆ จิ้งจก มีแถบดำด้วย ไอ้ตัวเนี๊ยดๆ อะไรนั่นแน่เลย” กุ๋ยเอาไฟฉายส่องไปที่ซอกหินใกล้พื้นดิน “ไหนว่ะ?” ผมถาม นั่นไงกลางไฟเลย “ไหนว่ะ?” ผมยังหาไม่เจอ “เอาน่าถ่ายไปก่อน ตรงไฟนั่นแหละ” ผมถ่ายหนึ่งภาพแล้วก็ค่อยๆ ย่องเข้าไปใกล้ขึ้น จนในที่สุดผมก็เห็นจิ้งจกตัวเล็กๆ มีแถบดำข้างลำตัว หางสีส้มอ่อนๆ เกาะอยู่บนหินก้อนหนึ่ง ผมอดทึ่งไม่ได้ที่กุ๋ยอุตสาห์เห็นจิ้งจกตัวเล็กขนาดนี้ “เออๆ แถบดำข้างตัว ไอ้เนี๊ยดๆ ที่พี่น๊อตบอกแน่เลย” ผมพูดเบาๆ ผมถ่ายรูปจนเจ้าตัวเล็กคลานหลบเข้าไปในซอกหิน

“เยส เยส” กุ๋ยกับผมดีใจที่ได้เห็นจิ้งจกดินข้างดำ เนี๊ยดๆ จนได้ ถ้าแนนไม่เข้าใจคงคิดว่าเราบ้าไปแล้วแน่ๆ

เราเดินย้อนกลับไปที่ถ้ำเล็ก ตุ๊กแกสยามยังอยู่ในซอกหินเดิม แต่คราวนี้เห็นชัดขึ้น ผมได้เห็นเค้าเต็มตาก่อนที่เค้าจะหลบกลับเข้าไปในซอกลึก ขาที่มีแผ่นยึดเกาะเล็กๆ ชัดเจน บ่งบอกว่านี่เป็นตุ๊กแกในสกุล Gekko สกุลเดียวกับตุ๊กแกบ้าน ซึ่งเป็นลักษณะขาที่ยึดเกาะกระจกได้

“เฮ้ย นณณ์นั่นอีกตัวเกาะอยู่ใต้ซอกหิน” ผมหันไปมองทางขวาลึกเข้าไปในถ้ำ ซึ่งตอนแรกเราไม่กล้าเข้าไปกัน ตุ๊กแกตัวขนาดย่อมๆ เกาะกลับหัวอยู่ในซอกหิน ต่ำลงไปกว่าระดับพื้น ผมกับกุ๋ยค่อยๆ ย่องเข้าไป กุ๋ยส่องไฟ เพื่อให้ผมถ่ายภาพ แชะๆ ๆ แล้วตุ๊กแกก็เบื่อหน้าเรา ตอนนั้นเราไม่ได้สังเกตลายละเอียดจึงคิดว่าตุ๊กแกตัวนี้เป็นลูกตุ๊กแกสยาม ยังเหลือตุ๊กแกป่าเขาหินปูนซึ่งพี่น๊อตบอกว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกที่เรายังหาไม่พบอีกตัวที่ผมอยากเห็น

“กุ๋ยไฟฉายใหญ่กว่า เอ็งนำ” ผมบอก ถอยฉากให้กุ๋ยขึ้นหน้า ด้านในสุดของถ้ำเป็นซอกเล็กๆ ผมเอาไฟส่องเข้าไปเห็นเป็นโถงเล็กๆ อยู่ด้านในอีก แต่ผมกับกุ๋ยไม่กล้าเข้าไป ได้ แต่ชะโงกส่องอยู่ด้านนอก “พี่ส่องไฟ เดี๋ยวแนนเข้าไปเอง” แนนบอก มาถึงตรงนี้แล้วผมยอมรับถึงหัวจิตหัวใจของผู้หญิงที่ผมปรามาศไว้ แต่แรกแล้ว “เฮ้อ โถงมันแคบถ้าเจออะไรนี่หลบไม่ได้เลยนะ” พวกผมบอก “เออน่า ไม่เป็นไรหรอก” แนนยืนยัน แต่ในที่สุดพวกเราก็ไม่อนุญาตให้เข้าไป

นอกถ้ำ ผมโทรหาพี่น๊อต รายงานผลการสำรวจ และสอบถามว่าพี่น๊อตเจอตุ๊กแกป่าที่ไหน “ในถ้ำใหญ่นณณ์ ตรงข้างประตูเลย” พี่น๊อต บอก “ถ้ำใหญ่ข้างประตู” ผมบอกกุ๋ยกับแนน เรามองหน้ากัน ถ้ำใหญ่อยู่ในซอกเล็กๆ ประตูอยู่ลึกเข้าไปอีก ด้านในมืดสนิท ดูน่ากลัวจนตอนแรกเราข้าม ไม่ได้เข้าไป แต่ความอยากเห็นก็มีมากกว่าความกลัว เราเดินย้อนกลับไปทางเดิม

จิ้งจกแถบดำ ไอ้เนี๊ยดของพวกเราออกมาจากซอกหินอีกแล้ว ผมถ่ายภาพของมันได้อีกหลายภาพ ก่อนที่เราจะเดินต่อไป “เฮ้ย กุ๋ยกระโดดโหย๊งเมื่อเดินไปถึงซอกหินเลยไปอีกหน่อย ผมหยุด กุ๋ยหันมามองหน้าผม “คางคก-่าอะไรตัวใหญ่-ิบหาย” กุ๋ยบอก ผมหัวเราะ เพราะเป็นคางคกตัวเดียวกับที่ ทำให้ผมตกใจ

ที่ปากถ้ำซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้เจอตัวอะไรเป็นเรื่องเป็นราวเลยแม้ แต่ตัวเดียว และเริ่มโทษไฟฉายว่าเบาเกินไป ผมขอแลกไฟฉายกับกุ๋ย แว่บแรกที่ไฟฉายเข้าไปในถ้ำ ทำให้เราเห็นพระพุทธรูปหลายองค์ ผมคุกเข่าลงกราบอีกครั้ง ค่อยๆ ฉายไฟไปรอบๆ บริเวณ และรอบประตูซึ่ง ด้านในมีซอกหินอยู่บนผนังเหนือหัว ผมเห็นตุ๊กแกตัวนึงยืนยิ้มอยู่ ตุ๊กแกตัวกลางๆ หน้าตาคล้ายๆ กับตัวที่เราเห็นเกาะอยู่ในซอกด้านล่างของถ้ำเล็ก ภาพถ่ายแสดงให้เห็นว่าพวกเค้ามีนิ้ว และเล็บเรียวยาวซึ่งเป็นลักษณะของตุ๊กแกป่ากลุ่มนี้ซึ่งเกาะกระจกไม่ได้ ที่ผ่านมามีการพบตุ๊กแกชนิดใหม่ในกลุ่มนี้หลายชนิดในประเทศไทย รวมไปถึงตุ๊กแกพี่น๊อต ซึ่งตั้งชื่อในเกียรติกับพี่น๊อตซึ่งเป็นผู้ค้นพบ และรวมไปถึงเจ้าตัวนี้ด้วยซึ่งพบกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะในเขตถ้ำหินปูนแถวนี้เท่านั้น ในที่สุดผมก็พบตุ๊กแกด้วยตัวเอง “เยส เยส” ผมดีใจบ้าง ซึ่งหลังจากย้อนกลับมาดูภาพทั้งชุดอีกครั้งผมก็พบว่าเจ้าตัวเล็กที่เราพบในถ้ำแรกจริงๆ แล้วก็เป็นตุ๊กแกป่าชนิดนี้เหมือนกัน

ในถ้ำใหญ่เรายังพบ จิ้งหรีดถ้ำที่หนวดยาวมากๆ และแมงมุมถ้ำตัวใหญ่อีกตัว เราถ่ายรูปแล้วก็ค่อยๆ ออกมา กุ๋ยเดินตามหลังผมออกมาจากถ้ำ ไม่งั้นผมคงเสียวสันหลังอีกครั้ง

กรึกๆ ๆ ๆ ๆ เกือบตีหนึ่งแล้ว เสียงโรงโม่หินยังดังอยู่ รถบรรทุกหินคันใหญ่แล่นผ่านพวกเราไป

จนป่านนี้เรายังไม่ได้ภาพตุ๊กแกสยามที่พอดูได้เลย เมื่อเราเจอค้างคาวตัวเล็กๆ เกาะอยู่อีกตัว ผมเลยตัดสินใจไปเอากล้องใหญ่ติดเลนส์ สามร้อย มม. ออกมาพร้อมกับแฟรช ผมนั่นเสียคนไปแล้วกับกล้องดิจิตอล จนตอนนี้ไม่ค่อยมีความมั่นใจในการถ่ายกล้องฟิล์มเท่าไหร่ โดยเฉพาะกลางคืนที่ต้องใช้แฟรชเป็นหลักซึ่งเป็นแบบที่ผมไม่คุ้นเคย

ตุ๊กแกสยามยังเกาะอยู่ในซอกหลืบเดิม คราวนี้ออกมาด้านนอกจนเห็นชัดที่สุดอย่างเป็นใจ ผมตั้งขากล้องห่างออกไปจนสุดทางเล็งไปทางนั้น แต่ด้วยความมืดผมก็ใช้เวลาอยู่นานกว่าจะปรับโฟกัสหาตุ๊กแกเจอ เลนส์ในตอนนั้นยังติด converter 1.4 x อยู่ ซึ่งผมเห็น แต่หัวตุ๊กแก ผมถ่ายไปหนึ่งภาพ แล้วพยายามถอดตัวคอนเวิทร์เตอร์ออกด้วยความยากลำบากโดยใช้ปากอมไฟฉาย เพื่อส่องไฟ แล้วผมก็ได้ถ่ายภาพตุ๊กแกสยามสมใจ (ขณะเขียนเรื่อง รูปยังไม่กลับมาจากร้าน กำลังลุ้นมากๆ ครับ)

ผมคุกเข่าลงข้างรถ กราบลาแล้วก็ถอยรถกลับออกมา ทุกคนรู้สึกโล่งใจ และตอนนี้ก็แลกเปลี่ยนกันดูภาพในกล้อง อย่างตื่นเต้น มีทั้งภาพเบื้องหน้า และเบื้องหลัง เป็นประสบการณ์ที่เราคงจะคุยกันไปอีกนานกับครั้งแรกในการสำรวจสัตว์ในเวลากลางคืนอย่างนี้ที่ประสบความสำเร็จไปด้วยดี ผมนึกไปถึงคำพูดของพี่น๊อต “หึ หึ เออ ที่โพสๆ ไว้ในกระทู้ที่เว็บก็ได้ผลเหมือนกันนะ มีคนบ้าตามแล้ว”

เรามุ่งหน้าสู่ลพบุรี เพื่อจะไปวัดพระศรีมหาธาตุ เพราะตำราที่ผมมีบอกว่ามีการพบหนูขนเสี้ยนเขาหินปูนที่นั่น โบราณสถานกลางเมือง ตำราก็เก่าแล้ว ไม่รู้หนูยังจะเหลืออยู่หรือเปล่า เราไปถึงที่วัดตอนเกือบตีสอง ขับรถวนหนึ่งรอบก็หาทางเข้าไม่เจอ เลยไปจอดรถที่สถานีรถไฟ เพื่อลงไปเดินหา ซึ่งเราก็พบว่าวัดแห่งนี้ไม่เปิดให้เข้าในช่วงกลางคืน เราพยายามใช้ไฟฉายส่องเข้าไป เพื่อหาหนู แต่ก็ไม่พบอะไรเคลื่อนไหวอยู่ จึงถอยกลับมาที่รถ

ขี้เมากลุ่มนึงตั้งวงกันอยู่หน้าสถานี ผมเดินเข้าไปถามหาหนูตัวเล็กๆ ขาขาวๆ หางยาวๆ และมีขนแข็ง ว่ามีอยู่ในบริเวณนี้หรือไม่ “อ้อมีๆ เยอะแยะเลยแถวนี้” พี่คนนึงบอก “แถวท่อนั่นก็มีเต็มเลย” “อย่างเนี๊ยนะครับ” ผมเอารูปมาถามให้แน่ใจ “เออนี่แหละๆ เหมือนเลย” “ไม่ใช่หนูท่อนะพี่” “ไม่ใช่ ไอ้พวกนี้ตัวเล็กกว่า” เมื่อพี่เค้ายืนยัน ผมก็เลยลองเอากรงมาดักดู ซึ่งหลังจากนั่งรอได้ไม่นานกรงก็ลั่นเมื่อหนูตัวเล็กๆ สีดำตัวนึงพยายามจะลากหมูสะเต๊ะไปจากตะขอ พวกเราเฮกันไปมุงดูที่กรง 

“นี่แหล่ะ นี่แหละ ใช่เลย” พี่คนนึงพูดขึ้น พร้อมแสดงท่าทางแบบมั่นใจมากๆ   ถึงแม้ผมจะไม่เคยเห็นหนูขนเสี้ยนเขาหินปูน แต่ผมก็มั่นใจว่านี่ไม่ใช่แน่ๆ จมูกแหลมๆ ขนดูนิ่มๆ หางสั้นๆ กับขาไม่มีขน หน้าตาคล้ายๆ หนูผีมากกว่า จิ๊ดๆ ๆ ๆ ๆ หนูร้องเสียงสูงมากๆ “ไม่ใช่นี่ครับ” ผมบอกพี่เค้า “ไหนๆ เอารูปมาดู” “นี่แหละเหมือนเลย” พี่คนนึงยังไม่ยอม พี่อีกคนบ้องหัว “เมาแล้วมั่ว ไม่เหมือนเห็นๆ วู้ววว” หลังจากนั้นก็เป็นการถกเถียงกันถึงพันธุ์หนูที่พบแถวนั้นแบบฉบับคนเมา ซึ่งผมจับใจความไม่ได้ ผมนึกขำตัวเองที่ดันหลงเชื่อคนเมา

เราพบตัวเองมาเกาะรั้วที่วัดพระธาตุฯอีกครั้ง พร้อมกับวงเหล้าทั้งวง ตีสองเข้าไปแล้ว เราพยายามหายามเฝ้า แต่ก็หาไม่พบ “ไม่รู้ไปแอบนอนอยู่แถวไหน ปกติต้องเดินวนๆ อยู่แถวนี้” พี่คนนึงพูดขึ้น ผมอยากเห็นหนูขนเสี้ยน ผมอยากพิสูจน์ว่าพวกเค้ายังมีเหลืออยู่รึเปล่าจนทนไม่ได้ คว้ากับดักได้สามอันก็ปีนรั้วข้ามไปวางกับดักไว้ กราบสามทีแล้วก็ปีนกลับออกมา

ที่โรงแรมตอนเกือบตีสาม “หกโมงครึ่งตื่นกินข้าว จะได้ไปดูกับดักกัน” ผมบอก เพื่อนทั้งสองก่อนนอนไปด้วยความเหนื่อยอ่อน แอร์ร้อนฉะมัด

รู้ตัวอีกทีผมก็พบตัวเองนั่งกำโทรศัพท์มือถืออยู่บนเตียง ความง่วงกำลังต่อสู้กับความอยาก ผมจำได้ว่าผมตั้งโทรศัพท์ให้ปลุกไว้ แต่ความทรงจำช่วงที่ตื่นขึ้นมาหายไป รู้ แต่ว่าผมกำลังจะล้มตัวลงนอนอีกครั้ง ก่อนที่จะฝืนลุกขึ้นไปแปรงฟันล้างหน้าล้างตาอาบน้ำ แต่งตัวลงไปกินข้าวเช้า วันนี้เป็นวันแรกในชีวิตที่ผมได้เปิดซิงแถวบุฟเฟ่ข้าวเช้า แปดโมง กว่าเราจะได้ออกจากโรงแรม วัดพระธาตุอยู่ไม่ไกล ผมรีบขับ เพื่อจะไปให้ถึงๆ นึกลุ้นถึงกับดักที่วางไว้เมื่อคืนนี้

กับดักทุกอันว่างเปล่า ผมเก็บใส่ถุงแล้วถอนหายใจ หวังว่าหมูสะเต๊ะคงไม่ถูกปากหรือผมวางไม่ถูกจุด มากกว่าที่คิดว่าที่วัดแห่งนี้ไม่มีหนูขนเสี้ยนเหลืออยู่แล้ว เราใช้เวลาเดินเล่นอยู่ในบริเวณโบราณสถานแห่งนี้อีกไม่นานนักก็ลาออกมา เนื่องจากการมาลพบุรีนี่เป็นครั้งแรกของทุกคน จึงยังมีอีกสองแห่งในจังหวัดลพบุรีที่พวกเราอยากไป พระปรางค์สามยอด กับศาลพระกาฬ ผมเป็นคนที่กลัวลิงมาตั้ง แต่เด็กๆ แล้ว เพราะเคยจะโดนกัด แต่ครั้งนี้ผมจะลองดู

ลิงๆ ๆ ๆ ๆ ข้ามถนนอยู่ก็มี เกาะอยู่บนหลังคารถก็มี อยู่บนเสาไฟฟ้าก็มี นั่งอยู่ริมรั่วก็มี ผมจอดรถด้านหลังพระปรางค์สามยอด เดินลงมาหันลีหันขวาง ลิงมองหน้า ผมหลบตา ถ้าจะไปศาลพระกาฬผมก็ต้องฝ่าฝูงลิงไป ผมรวบรวมความกล้า ลิงพวกนี้คงคุ้นเคยกับคนดี

ลิงมองหน้าผม ผมมองหน้าลิง แล้วก็เดินผ่านไป ไม่เห็นน่ากลัวอย่างที่คิด ฝูงลิงปีนป่ายรถกระบะคันนึงที่จอดอยู่หน้าศาลฯ ผมนึกดีใจที่จอดรถห่างออกไป เราใช้เวลาสักพักในศาลฯหลังจากขึ้นไปไหว้เรียบร้อยแล้ว ผมเดินกลับลงมา หากุ๋ยกับแนนไม่เจอ เลยเดินกลับไปเอากล้องใหญ่ที่รถ เพื่อจะไปถ่ายรูปลิงที่พระปรางค์สามยอด ผมว่าผมหายกลัวลิงไปเยอะแล้วนะเนี๊ย

ลิงตัวผู้ ตัวเมีย ตัวเล็ก ตัวใหญ่ นั่งๆ นอนๆ กันเต็มพระปรางค์สามยอด ผมเดินถ่ายรูปไปเรื่อยๆ กะว่าให้หมดม้วนค่อยเลิก ขณะที่กำลังเพลินๆ อยู่ ผมก็รู้สึกว่าขาตั้งกล้องสั่นผิดปกติ มองลงไปลูกลิงตัวนึงกำลังพยายามปีนขึ้นมา อีกหลายตัวกำลังด้อมๆ มองๆ อยู่รอบๆ ผมตกใจเล็กน้อย แต่ก็ยังยิ้มได้กับหน้าตาทะเล้นของพวกผม เอาเท้าเขี่ยๆ ลิงก็หลบ แล้วก็โผล่มามุงกันอีก คงสงสัยน่าดูว่าผมทำอะไร อีกตัวพยายามปีนขาตั้งอีกฝากขึ้นมา ผมเขี่ยๆ ก็กระโดดหนีไป เป็นอย่างนั้นไปตลอดจนหมดม้วน แล้วพวกเราก็ขึ้นรถไปกันต่อ เป้าหมาย คือ..... “จะไปไหนต่อเนี๊ย?” กุ๋ยถาม “ไม่รู้เหมือนกันหว่ะ” ผมบอก เพราะไม่ได้คิดไว้ล่วงหน้าจริงๆ นอกจากจะไปลำธารในเขตอำเภอวังม่วงที่สระบุรีซึ่งพี่หมีบอกว่ามีปลาเยอะแยะแล้ว เราไม่มีแผนอะไรเป็นพิเศษ ผมนึกไปถึงวัดถ้ำอีกแห่งที่พี่น๊อตบอกว่ามีตุ๊กแกสยามเหมือนกัน เราเลยตกลงกันว่าจะไปที่นั่น

ป้ายวัดเขาพระพุทธบาท ทำให้ผมนึกอะไรออก “เฮ้ย โมกราชินี อยู่บนเขาพระพุทธบาทใช่ป่ะ?” “คุ้นๆ นะ” กุ๋ยตอบ “งั้นแวะนมัสการพระพุทธบาทกันดีกว่ามาถึงสระบุรีแล้ว” ปากว่ามือเลี้ยวมุ่งหน้าสู่วัดพระพุทธบาท

เราใช้เวลาชื่นชมสถาปัตยกรรมที่งดงามของวัด และนมัสการพระพุทธบาทกันพอสมควร ผมเดินไปถามพี่เจ้าหน้าที่ว่าโมกราชินีอยู่ที่ไหน ซึ่งพี่เค้าก็ใจดีพาเดินไปชี้ให้ดูว่าอยู่บนยอดเขาที่มีเจดีย์องค์เก่าตั้งอยู่ พวกเราเลยปีนเขาเตี้ยๆ ขึ้นไปดูกัน ช่วงแรกเป็นบันไดอิฐเล็กๆ ช่วงหลังเริ่มไม่มีบันได ผมซึ่งถือกล้องอยู่สองตัวค่อยๆ เดินขึ้นไปบนเขาหินปูนอย่างระมัดระวัง

ผมแหงนคอตั้งบ่าโมกต้นใหญ่ขึ้นอยู่บนเขาสูงขึ้นไปอีกหน่อย แต่ไม่เห็นมีดอก ถ้าไม่มีดอกก็เซ็งอ่ะดิเนี๊ย ผมยังไม่ยอมแพ้ ปีนเขาขึ้นไปจนถึงยอด กุ๋ยกับแนนนั่งดูอะไรกันอยู่ด้านล่าง ผมมองไปรอบๆ แล้วก็พบว่ามีอีกต้นที่ขึ้นอยู่เชิงเขาด้านที่ชันมากๆ ยังมีดอกอยู่ ผมตั้งกล้องใหญ่ แต่ก็ได้ แต่ภาพดอกอะไรขาวๆ ดูไม่เป็นดอกโมก ถ้าจะให้เป็นดอกโมกคงต้องลงไปถ่ายใกล้ๆ ผมไปยืนที่หน้าผา ชะโงกหน้าลงไป ไม่มีที่เหยียบมากนัก แต่เขาหินปูนก็ดีอย่างตรงที่ไม่ลื่น ไม่ดีสองอย่างตรงที่หินคม และเปราะ เหยียบพลาดหักไปหกล้มบาดหน้าแหกแน่ๆ ผมตะโกนบอกกุ๋ยกับแนนว่ามีต้นที่กำลังออกดอกอยู่ด้านบนให้ตามขึ้นมา วางกล้องอันเล็กไว้ เพราะปีนเขาชันโดยไม่มีมือว่างสักมือคงไม่ใช่เรื่องฉลาดนัก แล้วผมก็ค่อยๆ ปีนลงไปที่ต้นโมกราชินีที่กำลังออกดอกต้นนั้น

“นณณ์ อยู่ไหนว่ะ?” เสียงกุ๋ยตะโกนมาจากข้างบน “อยู่ข้างล่างนี่เว้ย” ผมตะโกนกลับ “โถ่เอ๊ย ขึ้นมาเห็นกล้องเล็กตกอยู่ ไม่เห็นเอ็ง นึกว่าตกเขาไปแล้ว” กุ๋ยบอก ผมยิ้มๆ ตั้งหน้าตั้งตาถ่ายดอกโมก ดอกโน้นดอกนี้ ถ่ายฝักบ้าง ถ่ายใบบ้าง ตั้งใจว่าจะถ่ายให้หมดม้วนถึงจะเลิก โมกราชินีเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางที่มีดอกเดี่ยวเล็กๆ สีขาวสะอาดตา เป็นต้นไม้ที่ดูเนี๊ยบมากในสายตาของผม ผมชอบดอกไม้เรียบๆ อย่างนี้ บรรยากาศบนหน้าผาดีมากๆ วิวก็ดี ต้นไม้ก็สวยเรา เลยถือโอกาศถ่ายรูปกันเองหลายรูป “ถอยอีกๆ ” ผมบอกกุ๋ยที่ยืนอยู่ริมหน้าผา “ไอ้... มุกเก่าๆ ” กุ๋ยบอกพร้อมกับเก็กท่า

จริงๆ แล้วเราตั้งใจว่าจะแวะที่บ่อพรานล้างเนื้อด้วย เพราะ เพื่อนผมบอกว่ามีต้นข่าชนิดใหม่ขึ้นอยู่แถวนั้น แต่ เพื่อนคนเดิมก็บอกว่าหน้านี้คงยังไม่ออกดอก เวลาก็ล่วงเลยไปมากแล้ว ผมเลยตรงไปที่วัดถ้ำเป้าหมายที่เราตั้งใจกันไว้ ริมถนนมีโรงโม่หินอยู่มากมาย หลายแห่งติดป้ายว่าเปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ซึ่งนั่นคงจะเป็นต้นเหตุของเสียง กรึกๆ ๆ ๆ ๆ ที่เราได้ยินเมื่อคืนนี้ เราขับผ่านวัดที่เราแวะเมื่อคืน ใจนึงผมก็อยากจะกลับรถแวะไปดูสถานที่ในตอนกลางวัน แต่อีกใจก็กลัวเสียเวลาเลยไม่ได้แวะไป

ภูเขาหินปูนในแถบจังหวัดสระบุรี และลพบุรี เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ และต้นไม้หลายชนิดซึ่งเป็นสัตว์ และพืชเฉพาะถิ่น (endemic)ไม่พบที่อื่นอีกแล้วในโลก ตัวอย่างสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดที่ยังตกสำรวจอยู่จนถึงทุกวันนี้ที่ผมได้เอ่ยถึงไปแล้ว และยังมีอีกหลายชนิด ถ้าโมกราชินีพบขึ้นอยู่เฉพาะบนเขาหินปูนที่เขาพระพุทธบาท แล้วที่เขาแห่งอื่นจะไม่มีต้นโมกชนิดอื่นตกสำรวจขึ้นอยู่หรือ? ถ้าในบริเวณนี้พบบุกถึงห้าชนิดอยู่บนเขาต่างกันแล้วเขาอื่นๆ หล่ะ?  แล้วลูกที่ถูกระเบิดไปแล้วก่อนที่จะมีการสำรวจหล่ะ?  แต่ภูเขาแถวนี้ก็กำลังถูกทำลายลงทุกวันจากการระเบิดหิน เพื่อไปใช้ในการก่อสร้าง ถ้ำที่เคยสงบสุขเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์บ้างก็ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว บ้างก็ถูกพัฒนาเป็นวัด เมื่อถูกรบกวนสัตว์ก็อยู่ไม่ได้ แต่เขาหินปูนก็มีจำกัด สัตว์จึงถูกบีบคั้นมากขึ้นทุกวัน ผมอยากเห็นหนูขนเสี้ยนเขาหินปูนซึ่งผมพบข้อมูลน้อยมาก และหาไม่พบรูปถ่ายเลยนอกจากรูปวาดสองภาพ ผมอยากเห็นนกจู๋เต้นเขาหินปูนซึ่งยังมีรายงานพบบ้างในแถบนี้ แต่ก็กำลังลดจำนวนลงทุกวัน (หลังจากเขียนเรื่องนี้เสร็จแล้วผมถึงพบว่าหนังสือ Mammals of Thailand มีภาพถ่ายหนูขนเสี้ยนเขาหินปูน)

โรงโม่หินขนาดใหญ่กำลังแยกย่อยหินออกเป็นสองขนาด ผมจอดรถลงไปยืนดู “ตอนสร้างบ้านก็ใช้หินแบบนี้แหละหว่ะ” ผมบอกกุ๋ย

“อือ สร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล สร้างถนนก็หินแบบนี้แหละ” กุ๋ยบอก “ถ้าไม่ให้ระเบิดเขาแล้วหนูขนเสี้ยนไม่สูญพันธุ์ แต่เด็กไม่มีโรงเรียนเรียน คนป่วยไม่มีโรงพยาบาลจะเข้า กูไม่มีบ้านจะอยู่ มันก็เป็นไปไม่ได้ใช่ป่ะ” ผมเปรยขึ้นมากกว่าที่จะเป็นคำถาม “เออ” กุ๋ยตอบ “แล้วไงอ่ะ? เราก็ระเบิดเขาไปเรื่อยๆ จนหมด เขานี่ก็บ้านสัตว์บ้านต้นไม้มันเหมือนกัน หนูสูญพันธุ์ไปสักชนิดก็ไม่เห็นจะมีใครเดือดร้อน อย่างงั้นเหรอ?”   “หลีกเลี่ยงการพัฒนาไม่ได้หรอก แต่ทำอย่างไรถึงจะอนุรักษ์ไปพร้อมกันด้วยต่างหาก ต้องหาจุดที่พบกันได้ครึ่งทาง” กุ๋ยตอบแบบมีหลักการ ผมมองมันแปลกๆ ไอ้นี้มีหลักการกะเค้าเป็นด้วยเหรอเนี๊ย

แล้วเราก็มาถึงวัดถ้ำเป้าหมายของเรา เราเดินขึ้นบันไดที่ไม่สูงนักขึ้นไปจนถึงถ้ำซึ่งมีวัดตั้งอยู่ เรากราบพระแล้วขออนุญาตเข้าไปดูในถ้ำ ซึ่งมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่พร้อมกับระบบไฟแสงสว่างครบครัน พวกเราเดินลงไปตามโถงถ้ำที่มีการเดินสายไฟไว้อย่างดี ขยะเกลื่อนกราดอยู่ในซอกเกือบทุกซอก แต่เราไม่พบสัตว์อะไรเลยในถ้ำแห่งนั้น วันก่อนพี่น๊อตบอกให้เรามาที่นี่ เพราะมีตุ๊กแกสยามอยู่ ผมกะว่าจะมาถ่ายรูปให้ชัดๆ เพราะตัวเมื่อคืนเอา แต่ซ่อนอยู่ในซอกหิน แต่เราก็ไม่พบตุ๊กแกสักตัว เราไม่พบสิ่งมีชีวิตอื่นเลยในถ้ำนอกจากพวกเรากันเอง เที่ยงแล้ว เรากราบลาพระแล้วก็กลับลงมา ผมมาทราบจากพี่น๊อตทีหลังว่าต้องไปอีกถ้ำที่อยู่ด้านบนเขาไปอีก ไม่ใช่ถ้ำที่เราไปกัน “ถ้ำที่มีไฟ คงรบกวนมันมากเกินไป มันเลยขึ้นไปอยู่ด้านบนกันหมด” พี่น๊อตบอกผมทางโทรศัพท์

ตรงลานจอดรถของวัด ผมมองไปที่เขาหินปูนด้านหน้าซึ่งรอบๆ ถูกระเบิดไปจนเหลือ แต่สันเขาหินโล่งๆ บนยอดเขามีรถแบคโฮลจอดอยู่หนึ่งคัน ดูแล้วเป็นภาพที่มีพลัง ผมเลยตั้งขากล้องเตรียมตัวที่จะถ่าย แล้วจู่ๆ ฝุ่นก็พวงพุ้งขึ้นมาจากเขาลูกนั้น ตามด้วยเศษหินที่แตกกระจายอย่างกับพรุโอ่งขนาดยักษ์ ผมละสายตาออกจากกล้อง แล้วเสียง “บึ้มมมมมม สนั่นหวั่นไหวก็ตามมา ผมสะดุ้งเฮือก เกิดมาเพิ่งเคยเห็นตอนระเบิดภูเขาจะๆ ก็คราวนี้ ผมตื่นเต้นจนลืมถ่ายภาพ นึกไปถึงหนู ตุ๊กแก จิ้งจกที่อาศัยอยู่ในถ้ำบนเขาแห่งนั่นคงโดนระเบิดร่างแหลกละเอียด นึกไปอีกที เขาลูกนี้คงโดนระเบิดไปหลายทีแล้ว ถ้าผมเป็นพวกมันผมคงหนีไปอยู่ที่อื่นแล้ว......ถ้ามีทางเลือกนะ....

กว่าผมจะนึกได้ว่าต้องถ่ายรูป ก็มี แต่ฝุ่นที่ยังฟุ้งกระจายอยู่ ผมถอนใจ “แล้วมันจะเหลือเหรอเนี๊ยพี่” แนนรำพึงรำพัน...

เราออกเดินทางต่อมุ่งหน้าสู่อำเภอวังม่วง แวะกินข้าวเที่ยงที่ตัวอำเภอแล้วก็ออกเดินทางกันต่อ ตอนแรกที่เห็นป้าย “อุโมงค์ต้นไม้” ผมนึกไปถึงต้นไม้ขนาดใหญ่เป็นอุโมงค์จนรถหรือคนรอดได้ เราเดากันไปต่างๆ นานา จนในที่สุดเราก็พบว่าอุโมงค์ต้นไม้เป็นส่วนหนึ่งของถนนที่มีพืชหน้าตาคล้ายๆ กระฐินขนาดใหญ่ขึ้นเบียดเสียดแย่งหาแสงกันจนเอียงเข้ามาในบริเวณถนนจนกลายเป็นอุโมงค์ยาวหลายร้อยเมตร เราจอดรถถ่ายรูปกับความสวยงามของสถานที่แล้วก็ไปกันต่อ

อีกไม่นานนักเราก็มาถึงบริเวณวัดที่มีลำธารสายที่พี่หมีบอกผมไหลผ่าน ผมจอดรถลงไปไหว้พระ ขออนุญาตลงไปดูปลาที่ท่าน้ำ คว้ากล้องสองตัวได้ก็เดินมุ่งหน้าลงไปก่อน ผมแทบจะวิ่ง เพราะกำลังลุ้นว่าน้ำขุ่นหรือยัง เพราะช่วงนี้ฝนเริ่มตกแล้ว  ลำธารสายนี้มีความกว้างเฉลี่ยสักสามสี่เมตรบางช่วงก็เป็นแก่งหินเล็กๆ จากหน้าวัดนี่ก็คงจะไหลไปรวมกับแม่น้ำป่าสักอีกไม่ไกลนัก บางช่วงก็เป็นวังลึกพอสมควร ดูแล้วน่าอยู่มากๆ สายน้ำสีออกน้ำตาลขุ่นๆ ทำให้ผมไม่ค่อยสบายใจนัก ผมลองใส่แว่นตาดำน้ำก้มหน้าลงไปดูก็พบว่า    ทรรศนวิสัย แย่เอามากๆ เห็นไปข้างหน้าไม่ถึงฟุต แต่ผมก็ยังแอบหวังว่าน่าจะได้เห็นปลาค้อที่อาจจะหลบอยู่ตามซอกหินหรือถ้าปลาสะนากว่ายผ่านไปเป็นฝูงผมก็คงพอจะเห็นเกล็ดแววๆ ว่ายผ่านไปบ้าง

พวกเราเดินดูไปรอบๆ กุ๋ยกับแนนเดินทวนน้ำขึ้นไปที่แก่งบน ผมเดินลงแก่งล่าง เพราะใกล้กว่า และไม่อยากทิ้งกล้องไปไกลๆ น้ำในแก่งตื้นๆ พอที่จะเห็นพื้นกรวดได้บ้างผมค่อยๆ นอนลงไปเลื้อยไปตามซอกหินมองหาปลาค้อไปเรื่อย แต่ก็ไม่พบ ผมเห็นไปด้านหน้าไม่ถึงสองคืบดีด้วยซ้ำ ผมลุกขึ้นยืนดู เงาปลาตัวสักนิ้วสองนิ้ว ว่ายแว่บๆ จากหินสู่หินอย่างรวดเร็วจนผมมองไม่ทัน ผมก้มลงไปหาก็หาไม่เจอ พยายามอยู่นานจนผมอ่อนใจ “ไปเหอะ มองไม่เห็นเลยอย่างนี้ ปีนี้หมดฤดูดำน้ำจืดแล้วหล่ะ” ผมบอก เพื่อนร่วมทาง “คว้าน้ำเหลวครับ น้ำขุ่นเกินไป” ผมโทรไปบอกพี่หมี

เริ่มบ่ายคล้อยแล้ว นกทั้งหลายคงเริ่มออกหากินอีกครั้ง เรามุ่งหน้าสู่วัดถ้ำอีกแห่ง ซึ่งผมได้รับข้อมูลมาว่ามีนกจู๋เต้นเขาหินปูนในป่าหน้าปากถ้ำ แต่เนื่องจากไร้ซึ่งฝีมือ และโชคในการดูนกผมเลยหานกจู๋เต้นเขาหินปูนไม่เจอแม้ แต่ตัวเดียว มี แต่นกเอี้ยงที่บินไปบินมา กับนกเขาไฟ และนกสีชมพูสวนที่บินมากินลูกตะขบใกล้ๆ ลานจอดรถ ส่วนแนนกะกุ๋ย ที่ขึ้นไป ส่องหา จิ้งจก ตุ๊กแก ที่บริเวณภายนอกถ้ำ   ก็ไม่พบเห็นสัตว์อะไรเลยเช่นกัน ยุงป่าตัวเล็กๆ รุมล้อมพวกเราจนยืนไม่ได้อยู่สุข พวกเราเลยล่าถอยออกมา “ไว้ผมมาหาดูอีกแน่” ผมบอก เพื่อน

มาทางสระบุรีทั้งทีจะไม่ไปเยี่ยมเยียนพี่บ๊อบ นักเพาะปลากัดมือฉมังแถวหนองแคก็คงกระไรอยู่ เราออกจากวัดแห่งนั้น มุ่งหน้ากลับไปทางหนองแค ทางเข้าบ้านพี่บ๊อบเป็นถนนลูกรังเรียบคลองไปเรื่อยๆ อีกฝากเป็นทุ่งนาบ้าง เป็นไร่เป็นสวนผลไม้บ้าง ดูเรียบง่าย เราไปพบพี่บ๊อบที่ฟาร์มเลี้ยงกบ ถึงแม้จะไม่เคยเจอพี่บ๊อบมาก่อน แต่ผมก็โทรศัพท์คุย และแชตกันทาง MSN บ่อยๆ จนสนิทกันมากแล้ว ผมเคยมาที่แห่งนี้ เพื่อมาดูปลากัดลูกทุ่งภาคกลางในบ่อแถบนี้ แต่ตอนนั้นพี่บ๊อบไม่อยู่บ้าน พวกเราเลยหาฟาร์มกบเจออย่างไม่ยากเย็นนัก ผมลงจากรถไปทักทายพี่บ๊อบ พูดคุยกันอย่างสนิทสนม ผมแอบได้ยินแนนถามกุ๋ยว่าพี่เค้าเคยเจอกันมาก่อนรึเปล่า ผมไม่ได้ยินว่ากุ๋ยตอบว่าอะไร แต่แนนก็ได้คำตอบจากผมเมื่ออดสงสัยไม่ได้จนถามผมในรถอีกครั้ง “ไม่เคยเจอครับ แต่แปลกดีนะ เจอกันครั้งแรกก็คุยกันสนิทเชียว”

พี่บ๊อบพาเราไปดูกบหลายบ่อ มีทั้งบ่อปูน และในกระชัง ลูกอ๊อดที่เพิ่งมีขาดูเหมือนจรเข้พี่บ๊อบบอกว่าอย่างนี้เรียกว่า “ไอ้เข้” แต่ทางอีสานเรียก “ฮวก” เอาไปผ่าท้องบีบข้างในออกแล้วเอาไปกินได้ ส่วนกบตัวใหญ่ก็ส่งไปจีนหรือฮ่องกงเป็นๆ เราเดินดูกบดูฮวกมากมายอย่างตื่นตาตื่นใจ แล้วก็ถึงเวลาที่ผมรอคอย เมื่อพี่บ๊อบพาไปดูในบ่อปลาที่เพาะปลากัดมหาชัยไว้ เพียงจ้วงแรกก็ติดปลากัดขึ้นมาหลายสิบตัวแล้ว พี่บ๊อบบอกว่าครอกนี้ครอกเดียวเคยนับได้ถึงสี่ร้อยกว่าตัว ผมทึ่งมากๆ กับพี่มือการเลี้ยงของพี่บ๊อบ ปลากัดมหาชัยสีเขียวแวววาวดิ้นไปดิ้นมาอยู่ในสวิงหลายตัว แล้วเราก็ไปดูปลากัดกีตาร์ (ปลากัดทุ่งอีสาน) ของพี่บ๊อบ ซึ่งก็ต้องตื่นตาตื่นใจอีกครั้งกับขนาด และสีสันเขียวสดใสของปลา ยังไม่แค่นั้น กุ๋ยยังไม่เคยได้เห็นปลากัดทุ่งภาคกลางของหนองแค เราเลยไปที่ล่องสวนกัน ผมกับแนนช้อนได้ปลากัดตัวเล็กตัวน้อยมากมาย รวมไปถึงปลาวัยรุ่น แต่กุ๋ยกลับช้อนไม่ได้สักตัว จนเจ้าตัวเดินบ่นอุบอิบ ฟ้าเริ่มคลึ้มแล้ว เรายังมีอีกหนึ่งเป้าหมายที่อยากจะไปวันนี้ผมเลยชวน เพื่อนๆ ออกเดินทางต่อ

“นี่ๆ ดูตัวนี่ซ่ะก่อน..ว่ะ ฮ่า ฮ่า” กุ๋ยซึ่งยังไม่ยอมง่ายๆ เดินยิ้มด้วยความดีใจ มา แต่ไกล พี่บ๊อบก็เพิ่งจ้วงขึ้นมาพร้อมกับปลาตัวผู้ขนาดกำลังสวยตัวหนึ่ง

“ตัวนี้สวยกว่า ไม่ดูอ่ะ” ผมแซวกุ๋ย แต่เมื่อผมเห็นปลาตัวผู้ขนาดใหญ่สีสดในสวิงผมก็ยอมแพ้ ปลาแหล่งนี้สำหรับผมก็ยังดูตัวใหญ่หนาไปหน่อยที่จะเป็นปลากัดทุ่งพันธุ์แท้อยู่ดี “โชคดีนะเนี๊ย มาที่เดียวได้ดูปลากัดกลุ่มก่อหวอดตั้งสามชนิด ขาดปลากัดทุ่งภาคใต้อีกชนิดเดียวเอง” ผมบอกแนน

ยังๆ เรายังไม่ยอมกลับบ้านง่ายๆ ผมเห็นภาพค้างคาวแม่ไก่เกาะอยู่บนต้นไม้จาก เพื่อนที่เคยมาแถวนี้ ผมถามถึงวัดดังกล่าว ซึ่งพี่บ๊อบก็บอกว่าอยู่ไม่ไกลนัก และพี่บ๊อบก็อาสานำพาพวกไปดู ระหว่างทาง ผมเหลือบไปเห็นนกกระตั้ว สีขาวตัวใหญ่ บินผ่านหน้ารถไป ด้วยความตกใจหรือดีใจก็ไม่รู้ ร้องตะโกนโวยวายซะเสียงหลง  “เฮ๊ย..! นกกระตั้ว นกกระตั้ว สาบานได้ว่า ไอ้ที่ห็น มันคือ นกกระตั้ว” ทำเอา เพื่อนร่วมทางทั้งสอง ตกใจมาก มองหน้ากัน และหัวเราะขำ กับอาการของผม..

เมื่อไปถึงเราก็ได้ตื่นตาตื่นใจกับเสียงโว๊กเว๊กของค้างคาวแม่ไก่ขนาดใหญ่มากมาย บ้างก็เกาะอยู่บนไม้ใหญ่ บ้างก็บินฉวัดเฉวียนไปมาอยู่แถวนั้น ผมยืนแหงนคอตั้งบ่า หมุนตัวไปรอบๆ เกิดมาเพิ่งเคยเห็นค้างคาวแม่ไก่มากมายขนาดนี้เป็นครั้งแรก ค้างคาวสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มเดียวที่วิวัฒนาการจนสามารถ “บิน” ได้จริงๆ พวกมันเหมือนกระรอกตัวใหญ่ที่มีปีกบินไปมาเหมือนนก ผมยืนมองด้วยความทึ่งจนมืด 

เราลาพี่บ๊อบกลับบ้าน ระหว่างทางพวกเราพูดคุยกันไปถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะเมื่อคืนนี้ที่วัดเขาหินปูนอย่างออกรสออกชาติ เป็นประสบการณ์ใหม่ที่พวกเราตื่นเต้น เป็นครั้งแรกในชีวิตของทุกคนจริงๆ ที่เห็นตุ๊กแกในธรรมชาติแบบนี้แถมยังถ่ายรูปไว้ได้อีก

“เออแล้วพี่นณณ์รู้รึเปล่าว่าตรงเนินที่พี่นณณ์ขึ้นไปคนเดียวเป็นอะไร?” แนนถาม

“ไม่รู้สิ ก็เห็นมีเจดีย์เล็กๆ กับไหแตกๆ ” ผมตอบ

“นั่นแหละข้างในเค้าใช้เก็บ...กัน มีเป็นดง เลยนะพี่” แนนพูดแล้วเว้นช่องว่างให้ผมคิดเอง

“เฮ้ย จริงอ่ะ?” ผมรู้ แล้วว่าแนนหมายถึงอะไร

“ก็จริงดิ เอ็งมัว แต่ส่องกับพื้นหาจิ้งจกไม่ได้ดูเลยว่าข้างบนเป็นอะไร” กุ๋ยเสริม

“เฮ้ยจริงอ่ะ?”

“จริง แนนยังนึกเลยว่าพี่นณณ์กล้าฉะมัด”

“เฮ้ยจริงอ่ะ? ผมไม่รู้ ไม่งั้นก็ไม่กล้าขึ้นไปหรอก แล้วทำไมไม่บอกว่ะ”

“โถพี่จะไปกล้าพูดได้ยังไง อยู่ตรงนั้นอ่ะ”

“นั่นแหละ กูเลยหาเรื่องถ่ายภาพกิ้งกืออยู่ด้านล่างไง” กุ๋ยสมทบ

“เฮ้ยจริงอ่ะ?” ผมขนลุกอีกครั้ง

“ไม่เอาแล้ว คราวหลังต้องไปดูสถานที่จริงตอนกลางวันก่อนนะเว้ย บอกแล้วให้มาเร็วๆ โด่” ผมโวย นึกขึ้นได้ว่าพี่น๊อตเตือนไว้เหมือนกันว่าให้ระวัง เพราะสถานที่เก็บ...อยู่แถวนั้น แต่ผมพยายามลืมๆ ไป เพราะไม่อยากกลัว และก็ไม่ได้บอก เพื่อนทั้งสอง เพราะไม่อยาก ทำให้กลัว

ผมจำไม่ได้ แล้วว่าเราคุยกันเรื่องอะไรต่อ แต่จู่ๆ แนนก็พูดถึงพี่ผู้ชายคนนั้นที่เข้ามาถามว่าทำอะไรกัน กุ๋ยก็เลยถามขึ้นมาว่าผมเห็นผู้หญิงแก่ผมหยิกที่นั่งมองพวกเราอยู่บนม้านั่งไม้เก่าๆ หน้าศาลทางขวามือหรือเปล่า ซึ่งหลังจากนึกอยู่นานผมก็ยืนยันว่าไม่เห็น แนนซึ่งถือไฟฉายแรงที่สุดในตอนนั้นก็ยืนยันว่าไม่เห็น

“ผมเห็น แต่ผู้ชายคนนั้นที่เดินมาถาม” ผมยืนยัน

“เออผู้ชายคนนั้นก็เห็น แต่ตอนที่แนนบอกว่ามีคนมา ที่บอกว่าเห็นแล้วหน่ะ ผมหมายถึงผู้หญิงแก่คนนั้นนะ” กุ๋ยบอก มานึกย้อนไปอีกที ตอนนั้นกุ๋ยบอกว่าเห็นแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้หันไปดูด้วยซ้ำ ทำไมผมถึงไม่แปลกใจ

“อึ๊ ไม่เห็นอ่ะ” ผมยืนยัน ถึงตอนนี้ผมขนหัวลุกซู่แล้ว เพราะพอจะสรุปได้ แล้วว่าอะไรเป็นอะไร

“พี่นึกดูนะผู้หญิงแก่ที่ไหนจะมานั่งอยู่ตรงนั้น ในวัด ตอนห้าทุ่มเที่ยงคืน แล้วหายไปเฉยๆ โดยไม่มีไฟฉายหรือตะเกียงอะไรเลย” แนนพูดขึ้น

“สองคนไม่เห็นจริงๆ อ่ะ?” กุ๋ยเริ่มรู้ตัว

“ไม่เห็นจริงๆ ผมก็ส่องไฟไปทางนั้น แต่ไม่เห็น”

“เฮ้ย กลัวนะเว้ย อย่าหลอกดี้ ผมยังนึกว่าผู้หญิงแก่คนนั้นไปตามผู้ชายคนนั้นมาดู” กุ๋ยยังพยายาม

“ไม่เห็นจริงๆ แล้วผู้ชายคนนั้นก็เดินมาจากด้านซ้ายด้วย ถ้าผู้หญิงแก่เดินไปตามก็ต้องผ่านพวกเราสิ หรือไม่ ก็น่าจะได้ยินเสียงอะไรบ้าง ” ผมยืนยันขนลุกอีกครั้ง

“เอาน่าพี่ เค้าคงออกมาดูเฉยๆ แหละ เห็นเรามาดีเค้าก็เลยไป ไม่ต้องกลัวหรอก” แนนบอก

“ก็ถูก แต่แปลกนะตอนนั้นไม่ได้นึกเป็นอย่างอื่นเลย ถ้านึกไปอีกทางคงไม่ได้หาตุ๊กแกต่อแล้ว” กุ๋ยพูด คงจะเป็นความคิดดีตั้งใจดีที่ ทำให้กุ๋ยไม่ได้นึกไปทางนั้น

“พี่กุ๋ยเกิดวันพุธก็เงี๊ยะ คนเกิดวันพุธจะสื่อได้ดี” แนนพูดต่อ

“ไม่เอาแล้วเว้ย คราวหลัง ยังไงๆ ก็ต้องขอดูสถานที่ตอนกลางวันก่อนหล่ะ” กุ๋ยโวย

“ก็เอ็งนั่นแหละมาสาย” ผมโวยบ้าง

สามทุ่มกว่า ผมกลับมานั่งโหลดรูปลงคอมอยู่ที่บ้าน นึกกลับไปถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาในช่วง ยี่สิบสี่ชั่วโมงที่แล้ว อดทึ่งไม่ได้ว่าเป็นเวลาลืมตาถึงยี่สิบชั่วโมง ผมเผลอหลับคาโต๊ะไปขณะที่กำลังโหลดรูปลงคอมฯ ปกติผมจะตื่นเต้นที่จะได้เห็น แต่วันนี้ผมเหนื่อยเกินไป ผมปิดคอมฯแล้วอาบน้ำนอน เป็นอีกยี่สิบสี่ชั่วโมงของชีวิตที่สุดๆ จริงๆ

ขอขอบคุณ

เพื่อนร่วมทางทั้งสอง

พี่น๊อต และพี่หมี ผู้จุดประกายให้ทริปนี้เกิดขึ้น

พี่บ๊อบที่ดูแล ต้อนรับอย่างดี (คราวหน้าถ้ามีเวลาได้ดวลปิงปองกันแน่ครับ)

เพื่อนๆ ทุกคนสำหรับข้อมูลสัตว์ และต้นไม้ในแถบนี้

สัตว์ทุกตัวที่ให้ความร่วมมือในการถ่ายภาพ

วิศวกรบริษัทแคนนอนที่สร้างกล้องดิจิตอลที่มีจอภาพหมุนได้รอบทิศไม่เช่นนั้นการถ่ายภาพในซอกหลืบของถ้ำคงเป็นไปไม่ได้

และ ขอขอบคุณ ผู้หญิงแก่ท่านนั้นที่เข้าใจว่า..พวกเรามีเจตนาดี..

 

เริ่มเขียนที่ริมทุ่งหนองจอก จบที่เซ็นเตอร์พอยท์

 

เกี่ยวกับตัวเอกในท้องเรื่อง

จิ้งจกดินข้างดำ (Taylor’s Leaf-Toed Gecko : Dixonius melanostictus)

จิ้งจกดินข้างดำ ได้รับการบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานเมื่อปี ค.. 1962 โดย Taylor ในชื่อ Phyllodactylus melanostictus ต่อมาได้มีการตั้งสกุล Dixoniusโดย Bauer ในปี 1997 จิ้งจกดินชนิดนี้จึงถูกย้ายมาอยู่ในสกุลใหม่ ซึ่งจิ้งจกในสกุลนี้พบเฉพาะในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น

จิ้งจกดินข้างดำ เป็นจิ้งจกกลุ่มที่คนจะไม่คุ้นเคยนัก เพราะจะไม่พบวิ่งกินแมลงตามบ้าน แม้ แต่คนในพื้นที่เองส่วนใหญ่ก็ไม่เคยเห็น ลักษณะที่ต่างจากจิ้งจกที่คุ้นเคยกัน คือ ที่นิ้วเท้าจะมีแผ่นยึดเกาะดูคล้ายแผ่นกลมๆ แค่บริเวณปลายนิ้วเท่านั้น ดังนั้นมันจึงมีประสิทธิภาพในการปีนป่ายต่ำ พบเฉพาะตามพื้นหรือก้อนหิน ไม่เคยพบตามต้นไม้เลย (จากประสบการณ์)  สีลำตัวเป็นสีน้ำตาลอมเทาแล้วมีแถบสีดำจากด้านข้างของหัวถึงขาหน้า หรือตลอดข้างลำตัว ด้านท้องสีขาว หางเรียวยาวสีส้มจางๆ

การแพร่กระจาย : เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย และเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.. 2535

สถานภาพปัจจุบัน: เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย

 

ตุ๊กแกสยาม (Siamease Green Eyed Gecko : Gekko siamensis)

ตุ๊กแกสยาม เป็นตุ๊กแกที่ได้รับการตีพิมพ์การบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานครั้งแรกเมื่อปี ค.. 1990 โดย Grossmann และ Ulber ในขณะเดียวกัน Ota และ Nabhitabhata (.จารุจินต์) ได้บรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธานแล้วอยู่ระหว่างการตีพิมพ์ โดยให้ชื่อว่า Gekko taylori กว่าผลงานจะออกก็ล่วงมาถึงปี ค..1991 จึงได้เป็นเพียงชื่อพ้อง ดังนั้นจึงกลายเป็นการเสียโอกาสที่คนไทยได้มีส่วนร่วมในการตั้งชื่อชนิดสัตว์ของไทยไปอย่างน่าเสียดาย

ตุ๊กแกสยาม เป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) ที่เราคุ้นเคย   ตัวค่อนข้างใหญ่ ลักษณะที่โดดเด่นของตุ๊กแกสกุล (Genus) นี้ คือ เท้ามีประสิทธิภาพในการยึดเกาะได้ดีมาก (เทียบกับการเกาะกระจก) สีพื้นลำตัวเป็นสีเทาเข้มถึงเทาอมเขียว มีลายทางเป็นเส้นสีดำจางๆ คู่ไปกับจุดขาวเรียงเป็นแถว ตามีสีเขียวหรือเขียวอมเทา

การแพร่กระจาย : มีศูนย์กลางการแพร่กระจายในพื้นที่เขาหินปูนภาคกลางตอนกลาง พบในจังหวัดสระบุรี ลพบุรี นครราชสีมา และในส่วนที่ต่อเนื่อง รวมไปถึงจังหวัดเพชรบูรณ์ (ตัวที่ใช้เป็น Holotypeในชื่อ Gekko taylori) จากการสังเกต และข้อมูลพบว่า เป็นสัตว์ที่มีความผูกพัน (ไม่ใช้คำว่าสัมพันธ์ เพราะผูกพันมีความหมายทางลึกมากกว่า) กับเขาหินปูนสูง

สถานภาพปัจจุบัน : เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย

 

จิ้งจกหินสยาม (Siamease Four-Clawed Gecko : Gehyra sp. siamensis)

จิ้งจกหินสยาม เป็นจิ้งจกที่มีสมาชิกที่เราๆ คุ้นเคยกัน คือ จิ้งจกหินสีจาง หรือจิ้งจกบ้านหางอ้วน (Gehyra mutilata) ลักษณะที่แตกต่างกันเด่นชัด คือ ลายบนลำตัวจะเป็นลายขวางลำตัวเป็นคลื่นค่อนข้างชัด และมีจุดขาวประปรายบนลำตัว เท้ายึดเกาะได้ดี หางเรียวเท่าจิ้งจกบ้างหางอ้วน แต่ไม่ยาวมากนัก

การแพร่กระจาย : พบจิ้งจกที่ยืนยันได้ว่าเป็นชนิดเดียวกันนี้ในจังหวัดสระบุรี และมีภาพถ่ายลูกจิ้งจกจากนครราชสีมา ซึ่งระบุว่าเป็นชนิด Gehyra felhmani ที่มีเขตการแพร่กระจายเฉพาะภาคใต้ตอนกลางเท่านั้นจึงเชื่อได้ว่าอาจจะเป็นลูกของจิ้งจกหินชนิดนี้

สถานภาพปัจจุบัน: คาดว่าเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธาน

 

ตุ๊กแกป่าสยาม (Siamease Cave-Dwelling Bent-toed Gecko : Cyrtodactylus sp. siamensis)

ตุ๊กแกป่าสยาม นับเป็นสัตว์ที่ห่างไกลความคุ้นเคยของคนอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่มีการมาหากินตามบ้านคน ลักษณะของตุ๊กแกป่า (สกุล Cyrtodactylus) คือ นิ้วเท้าจะยาว เล็บแหลมคม ปีนป่ายได้คล่องแคล่ว แต่เกาะกระจกไม่ได้ (ยกเว้นกระจกสกปรก) ตุ๊กแกป่าชนิดนี้จะมีลายพาดขวางลำตัวสีน้ำตาลแถบใหญ่สลับกับสีเหลืองน้ำตาลอ่อนแล้วเหลืองเป็นแถบเล็กๆ แล้วจึงเป็นสีน้ำตาลแถบใหญ่อีกครั้ง ส่วนครึ่งหลังของหางจะเป็นสีขาว

การแพร่กระจาย : ปัจจุบันพบเฉพาะในเขตจังหวัดสระบุรีเท่านั้น

สถานภาพปัจจุบัน : คาดว่าเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย และเป็นสัตว์คุ้มครองตาม  พระราชบัญญัติ สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.. 2535 ซึ่งได้รับการคุ้มครองในระดับสกุล และ อยู่ระหว่างดำเนินการบรรยายลักษณะทางอนุกรมวิธาน

เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับจิ้งจกตุ๊กแก

                ผมเคยถามชาวบ้านว่าเคยเห็นตุ๊กแกป่าหรือเปล่า คำตอบที่ได้รับก็ คือเคยเห็น ก็เหมือนตุ๊กแกบ้านนั่นแหละ  แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าผมจะใช้ตุ๊กแกกับตุ๊กแกป่าต่างกัน ทั้งๆ ที่มันก็อยู่ในป่าทั้งคู่  การใช้ชื่อเช่นนี้เป็นการจำแนกกลุ่มของสัตว์เหล่านี้  “ตุ๊กแก….” จะใช้กรณีเป็นตุ๊กแกสกุล Gekko  ส่วน “ตุ๊กแกป่า….”  จะใช้กับตุ๊กแกสกุล Cyrtodactylus  ไม่ใช่บอกว่ามันอยู่ในป่าหรือไม่   แม้ แต่ในส่วนของจิ้งจกเองก็จะมีเรียกท้ายคำว่าจิ้งจกต่างกัน เช่น จิ้งจก  จิ้งจกหิน  จิ้งจกดิน จิ้งจกนิ้วยาว ฯลฯ ยกเว้นกรณีจิ้งจกบ้านนั้นจะสื่อว่าจิ้งจกชนิดนั้นๆ พบทั่วไปตามบ้าน แต่ในทางวิชาการแล้วมันจะมีชื่อที่จำแนกกลุ่มชัดเจนด้วยเสมอ

                การจำแนกระหว่างจิ้งจกกับตุ๊กแกนั้น สังเกตได้ว่าในภาษาอังกฤษจะใช้ Gecko ทั้งหมดไม่มีการแยก แต่คนไทยได้เรียกแยกออกไปโดยใช้ขนาด และ/หรือลายในการแยก เช่น ถ้าตัวเล็ก เรียกจิ้งจก ตัวใหญ่เรียกตุ๊กแก  หรือ ไม่ค่อยมีลวดลายเรียกจิ้งจก หากลายมาก ชัดเจนก็เรียกตุ๊กแก  จนบางครั้งมีการเรียกสัตว์ชนิดเดียวกันทั้งจิ้งจก และตุ๊กแกตามขนาดที่เปลี่ยนไป เช่น ตุ๊กแกลายจุดคู่(Gekko monarchus) ตอนเล็กๆ เรียกจิ้งจก เมื่อโตเต็มวัยกลับเรียกตุ๊กแก แต่หากลายพร้อยก็จะเป็นตุ๊กแกทันทีไม่ว่าจะมีขนาดใดก็ตาม

 

โมกราชินี (Wrightia sirikitiae) (ข้อมูลจากกรมป่าไม้)

โมกราชินี พรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ค้นพบโดยศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย  สันติสุข ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสำรวจ และจำแนกพรรณไม้ กรมป่าไม้ ในระหว่างการสำรวจพรรณพฤกษชาติเขาหินปูน ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 จากการศึกษาค้นคว้าเอกสาร และตรวจสอบตัวอย่างพรรณไม้อ้างอิง ในหอพรรณไม้ต่างประเทศที่เกี่ยวข้องหลายประเทศ ยังไม่เคยปรากฏชื่อหรือรายงานลักษณะรูปพรรณของพรรณไม้ชนิดนี้มาก่อน และ Dr. D.J. Middleton ผู้เชี่ยวชาญพรรณไม้วงศ์ APOCYNACEAE ของโลก แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนยัน และสนับสนุนการยกรูปพรรณไม้สกุลโมกมัน (WRIGHTIA) นี้เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก การค้นพบพรรณไม้ใหม่ชนิดนี้ มีความสำคัญต่อวงการพฤกษศาสตร์ เนื่องจากในปัจจุบันโอกาสค้นพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลกในวงศ์  APOCYNACEAE มีน้อยมาก โดยเฉพาะประเภทไม้ต้น

พรรณไม้ใหม่นี้เป็นชนิดที่มีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะดอกที่สวยงาม จัดเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียว (Endemic species) พบเฉพาะในประเทศไทย มีสถานภาพเป็นพรรณไม้ที่หายาก และใกล้จะสูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก (Rare and endangered species) สมควรที่จะอนุรักษ์ และนำมาปลูกขยายพันธุ์ต่อไป กรมป่าไม้จึงขอพระราชทานพระราชานุญาต ใช้ชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ของสกุล WRIGHTIA ตามพระนามของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ว่า “WRIGHTIA SIRIKITIAE MID. & SANTISUK” เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จากการที่ได้ทรงสนับสนุน และทรงริเริ่มโครงการต่าง ๆ ด้านการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และ เพื่อเป็นสิริมงคลในวงการพฤกษศาสตร์ของประเทศไทย รายละเอียดของพรรณไม้โมกราชินีนี้ได้ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ใน วารสารพฤกษศาสตร์สากล Thai Forest Bulletin (Botany) No. 29 August 2001 ของกรมป่าไม้ ซึ่งเผยแพร่ไปทั่วโลก

โมกราชินี เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบ สูงประมาณ 4 – 6 เมตร ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อน มีตุ่มใหญ่หนาแน่น ใบ เดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ มีขนนุ่มประปราย ดอก สีขาว กลิ่นหอมอ่อน ผล ออกเป็นฝักคู่ รูปคล้ายกระบองยาว ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาลอ่อน แตกออกตามตะเข็บด้านในเมื่อฝักแห้ง ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ปลายเมล็ดเป็นกระจุกพู่ขน


การแพร่กระจาย
: โมกราชินี พบขึ้นห่าง ๆ ไม่กี่ต้น ตามซอกหินของภูเขาหินปูน ที่แห้งแล้ง ในป่าละเมาะผลักใบตามธรรมชาติ รอบอาณาเขตวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เพียงแห่งเดียว ออกดอก และผลในช่วงฤดูร้อนขยายพันธุ์ได้โดยเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง เหมาะสำหรับนำมาส่งเสริมปลูกเป็นพรรณไม้ประดับพื้นเมือง ของประเทศไทย เนื้อไม้ลักษณะคล้ายไม้โมกมัน

 

more survey ...

 

www.siamensis.org - Thailand Fish & Nature Explorer
An independent non-profit group
Established 2001
 All Rights Reserved 2001-2010 ©siamensis.org