เรื่องของ อ.อึ่ง…อึ่งลาย

ฝนต้นฤดูเริ่มเทลงมาแล้ว หลังจากทิ้งช่วงมานานตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมา เวลาแห่งการเริ่มต้นของชีวิตใหม่กำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง

สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหลายชนิดออกจากที่ซ่อน บ้างโผล่มาจากรูดินที่อาศัย ‘จำศีล’ ตลอดช่วงฤดูแล้ง บ้างส่งเสียงร้องก้องมาจากโพรงในตอไม้ที่มันยึดอาศัยอยู่

“อึ่งลาย” ตัวผู้หลายร้อยตัวโป่งคอส่งเสียงร้องแข่งกัน เพื่อโชว์พลังเสียงให้ตัวเมียเลือก นอกจากแข่งในบรรดาชนิดเดียวกันเองแล้ว พวกมันยังต้องแข่งกับกบหรืออึ่งชนิดอื่นๆ อีก เพราะต่างหมายตาจะสืบพันธุ์หรือชวนตัวเมียชนิดเดียวกันมาวางไข่ ในแหล่งน้ำนี้ จนเสียงระงมดัง “อึ่ง…อ่างๆ” ราวออเคสตร้าท้าฝน ดังไปทั่วทุ่ง

เมื่อลองตั้งใจฟัง “เพลงอึ่งอ่าง” จึงรู้ว่า อึ่งหรือกบต่างชนิดกัน จะมีจังหวะการร้องต่างกันไป เพราะกบหรืออึ่งตัวเมียจะรับรู้ได้ว่า เจ้าตัวผู้ที่เป่งคอร้องอยู่เป็นชนิดเดียวกัน แล้วอยู่ตรงที่ใด และแข็งแรงพอไหม? ที่จะเป็นพ่อของเด็กๆ (ในไข่) เต็มท้องอุ้ยอ้ายของเธอ

ในค่ำคืนที่มืดมิด มีเพียงเสียงร้องอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะสื่อสารไปถึงสาวเจ้าที่มีไข่เต็มท้องได้ดีที่สุด

เจ้าอึ่งลายตัวผู้จะโป่งคอร้องสุดเสียง ถุงใต้คอจะโป่งออกคล้าย “บอลลูนน้อยๆ” สีดำ ชวนเราทึ่งในวิวัฒนาการของธรรมชาติที่ถุง “บอลลูน” ของมันเป็นสีดำ เพื่อ ‘เนียน’ ไปกับความมืดรอบด้าน หวังพรางตาหลบผู้ล่าอย่างงูหรือชะมด ลองนึกดู หากเป็นสีขาวๆ ตัดกับความมืด เท่ากับ “ล่อเป้า” ชัดๆ

หลังจากอึ่งลายจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้ว น้ำเชื้อของเพศผู้ ต้องอาศัยน้ำเป็นตัวกลาง พาไปปฎิสนธิกับไข่ของตัวเมียที่ปล่อยออกมาหลังจากผสมพันธุ์ แล้วทั้งคู่จะทิ้งให้ไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว ไว้ที่แหล่งน้ำที่มันเลือก

 ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ ไข่หลายร้อยหลายพันฟองที่รอดจาการปากผู้ล่าอย่างปลาหรือกบ อึ่งด้วยกันเอง จะฟักออกมาเป็นลูกอ๊อด ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากตัวเต็มวัยอย่างชัดเจน โดยมีรูปร่างคล้ายปลา มีส่วนหัวที่โตมาก มีหาง ไม่มีฟัน

พฤติกรรมการกินอาหารของเด็กๆ  จะแตกต่างกันไป อาจจะกินแบบกรองกิน หรือกินพืช และกินสัตว์ 

เมื่อลูกอ๊อดเปลี่ยนรูปร่างเป็นตัวเต็มวัย มันจะมีขาหลังและขาหน้างอกออกมา พร้อมกับหางยาวที่ติดตัวมาแต่แรก ค่อยๆ หดหายไป จนหน้าตาคล้ายกบหรืออึ่งที่เป็นพ่อแม่ของมัน 

อึ่งลาย Calluella guttulata เป็นอึ่งชนิดหนึ่งของประเทศไทย ที่มีการผสมพันธุ์แบบเป็นกลุ่มก้อน คือมีการผสมพันธุ์กันเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่มากเท่ากับอึ่งเพ้า Glyphoglossus molossus ที่แต่ละครั้ง อาจมีอึ่งเพ้ามารวมกันเพื่อผสมพันธุ์เป็นหมื่นตัว

การรวมตัวกันจำนวนมาก จึงง่ายดายนัก ในการจับออกมาโดยชาวบ้านท้องถิ่น แล้วนำมาประกอบอาหารกินในครัวเรือนหรือวางขาย เป็นแหล่งอาหารโปรตีนท้องถิ่นที่นำมารับประทานได้สารพัดหลากเมนู

นอกจากรับใช้ปากท้องของประชาชน บรรดาอึ่งอ่าง รวมถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดอื่นๆ ยังมีหน้าที่เด่นชัดในระบบนิเวศ คือเป็นนักควบคุมปริมาณแมลงแต่ละชนิดในธรรมชาติ

แถมยังเป็น “ข้อต่อ” ชิ้นสำคัญของการถ่ายทอดพลังงานในห่วงโซ่อาหาร พวกมันเป็นอาหารของสัตว์ผู้ล่าอย่างงูหรือสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กอย่าง พวกนกเค้าแมว ชะมด อีเห็น จนถึงหมาจิ้งจอก

แม้มีการจับอึ่งพวกนี้ ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่สาเหตุการลดจำนวนลงของประชากรอึ่งลายและพรรคพวก สาเหตุหลัก มาจากการทำลาย "บ้าน" ซึ่งคือ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณที่พวกมันอาศัยอยู่ การเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้พื้นที่อาศัยของมันลดลงหรือหายไป

เมื่อพื้นที่ป่าดั้งเดิมหายไป แถมยังเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว มีการใช้สารเคมีอย่างหนักเพื่อเร่งหรือดูแลผลผลิต สารเคมีมหาศาลจะละลายจากแหล่งพื้นที่เกษตรกรรม ไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง อันเป็นแหล่งอนุบาลหรือแหล่งอาศัยของสัตว์เลือดเย็นกลุ่มนี้

ทำให้เหล่า ‘เจ้าบอลลูนไพร” อาจพิการ แขนขาขาดหายไป และอาจปรับตัวไม่ได้ ตายยกหมู่

ใครจะไปกล้ารับประกัน วันหนึ่งข้างหน้า พอฝนตกแต่ละที อาจต้องหยิบ ipad, iphone มาคอยเปิดเสียงเพลง “อึ่ง…อ่าง” ฟังแทนเสียงตัวจริงๆ ก็ได้

Comments

ความคิดเห็น

ความเห็นที่ 1

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับข้อมูลน่าอ่าน
  พึ่งรู้เลยนะคะเนี่ยะ ว่า ที่กบ เขียด  อึ่งอ่าง ตัวผู้มีถุงที่คางสีดำๆๆ เพราะอะไร ที่เเท้อย่างนี้นี่เอง ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ